ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมพัฒนาโปรแกรมระบบคิว "ฮุกกะ" เผย พร้อมให้โรงพยาบาลต่างๆ ดาวน์โหลดโปรแกรมไปใช้ฟรี ไม่จำกัดว่าต้องเป็นโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 5 เท่านั้น ชี้ตอบโจทย์ตัวชี้วัด สธ. ในเรื่อง Smart Hospital อีกทั้งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล

นายกิตติ ลิ้มทรงธรรม หัวหน้างานไอที โรงพยาบาลราชบุรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ทีมงานด้านไอทีของโรงพยาบาลราชบุรีได้พัฒนาโปรแกรมระบบคิว "ฮุกกะ" สำหรับใช้ในโรงพยาบาล รวมขยายพื้นที่นำร่องในเขตสุขภาพที่ 5 ไปแล้วกว่า 45 โรงพยาบาล ล่าสุดมีหลายโรงพยาบาลให้ความสนใจต้องการนำโปรแกรมฮุกกะไปใช้งาน แต่ไม่กล้าขอใช้ หรือไม่ได้เป็นโรงพยาบาลในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 จึงไม่ทราบว่าจะใช้งานโปรแกรมดังกล่าวได้หรือไม่ ดังนั้นจึงอยากฝากประชาสัมพันธ์ว่ายินดีให้โรงพยาบาลอื่นๆหรือเขตอื่นๆนำไปใช้งานได้เลยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้โรงพยาบาลที่สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ Facebook Fanpage : hyggemedicalservice หรือที่ https://hyggemedicalservice.com ได้เลย

นายกิตติ กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวจะช่วยตอบโจทย์ตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่อง Smart Hospital และที่สำคัญคือช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่คนไข้และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยโปรแกรมดังกล่าวจะมาพร้อมกับแอปพลิเคชันฮุกกะ ซึ่งหากผู้ป่วยดาวน์โหลดมาติดตั้งในมือถือและลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ก็จะสามารถใช้กับโรงพยาบาลต่างๆที่ใช้ระบบฮุกกะได้ทุกที่ คนไข้จะทราบว่ามีนัดกับแพทย์คนไหน เวลาใด และแอปฯจะช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ รวมทั้งสามารถเรียกดูข้อมูลเบื้องต้นของคนไข้ เช่น กรุ๊ปเลือด ข้อมูลการแพ้ยา สมมุติคนไข้จากโรงพยาบาลราชบุรีไปรักษาที่อื่นแล้วจำไม่ได้ว่าเคยแพ้ยาอะไร ก็สามารถดูข้อมูลตรงนี้แจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ พาร์ทที่เป็นไฮไลท์สำคัญคือระบบคิวในโรงพยาบาลซึ่งเป็นระบบคิวออนไลน์ คนไข้อยู่จุดไหนก็ดูคิวได้ แจ้งเตือนผ่านแอปฯได้ อย่างเช่นที่โรงพยาบาลราชบุรี มีคนไข้เยอะมาก พอทำระบบคิวเป็นออนไลน์ ก็จะคล้ายๆกับที่สนามบินคือแสดงคิวที่จออื่นๆในพื้นที่ได้ คนไข้ไปเข้าห้องน้ำหรือทานข้าวก็ดูคิวได้ รวมทั้งสามารถสแกน QR code เพื่อดูคิวก็ได้ด้วย

ในส่วนของการลดความแออัดในโรงพยาบาลนั้น การนำระบบคิวเข้ามาใช้งานไม่ได้ช่วยลดความแออัดในทันที แต่โปรแกรมนี้มีระบบฐานข้อมูลแสดงว่าที่ผ่านมาจ่ายคิวหนาแน่นช่วงไหน ระยะเวลารอคอยของแต่ละแผนกนานแค่ไหน แพทย์เรียกคิวเยอะๆช่วงไหน แล้วสามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อดีไซน์หรือลดขั้นตอนได้

"อย่างหนึ่งที่้เจอเวลาโรงพยาบาลอื่นๆสอบถามเข้ามา ปัญหาอันดับต้นๆคือเรื่องเงิน ต้องหาเงินไปจัดซื้อโปรแกรมคิว หรือพัฒนากันเองก็ออนไลน์ไม่ได้อีก เราก็เลยทำเป็นแพล็ตฟอร์มขึ้นมา ให้แต่ละโรงพยาบาลมาเลือกใช้งานได้เลย ตอนนี้เราพัฒนาครอบคลุมโรงพยาบาลทุกรูปแบบหมดแล้ว และยินดีให้โรงพยาบาลอื่น เขตอื่น นำไปใช้ได้เลยหลักการคือเราต้องเลือกประเภทให้ตอบโจทย์โรงพยาบาลเรา แล้วก็พอเลือกเสร็จก็ลงโปรแกรม ติดตั้งแก้ไขได้ไม่ยาก ที่สำคัญไม่ต้องเสียเงินเพราะที่ผ่านมาหลายๆโรงพยาบาลต้องไปซื้อระบบคิวเสียเป็นเงินหลักแสนบาทเหมือนกัน"นายกิตติ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รพ.ราชบุรี ผุด ‘ฮุกกะ แอปพลิเคชั่น’ นำร่องใช้ทั้งเขต 5 แก้ปัญหา ‘คิวยาว-แออัด’