ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.ประชุมบริการการใช้กัญชาทางการแพทย์ฯ เผยมีรพ.กว่า 100 แห่งยื่นเรื่องขอจ่ายยา เบื้องต้นเซ็ตระบบ 1 เขตสุขภาพ 1 รพ.แม่ข่ายดูแลการใช้ยากัญชา อภ.ลั่น 7 ส.ค. ผลิตน้ำมันกัญชาได้ทั้ง 3 สูตร “ทีเอสซีสูง-ซีบีดีสูง-เท่ากัน 1 ต่อ 1”

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมการจัดระบบบริการการใช้กัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล ว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลศูนย์(รพท.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) กว่า 100 แห่ง ยื่นเรื่องขอเป็นสถานพยาบาลที่สามารถจ่ายกัญชาทางการแพทย์ แต่เบื้องต้นคงไม่ใช่ทั้งหมดที่จะสามารถจ่ายตรงนี้ได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่กำหนด ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้ง แต่ที่คุยในที่ประชุมวันนี้ (24 ก.ค.) คือจะให้ 1 เขตบริการสุขภาพ มีสถานพยาบาล 1 แห่งเป็นแม่ข่าย รองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลในเขต และมีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิต เป็นที่ปรึกษา และมีการหารือเรื่องการตั้งเป็นคลินิกเฉพาะกัญชาอีกด้วย

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า สำหรับภายในเดือนสิงหาคมนี้จะมีน้ำมันกัญชาออกมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็น ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิตน้ำมันกัญชา อาทิ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยของนายเดชา ศิริภัทร ก็จะมาดูว่าสถานพยาบาลใดจะดูแลได้บ้าง ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกร้องให้รักษาฟรีนั้น หากแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้ก็ถือเป็นการใช้ยา เหมือนปัจจุบันผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้รับยาบางตัวที่อยู่นอกบัญชียาหลักฟรีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 อภ.จะสามารถผลิตน้ำมันกัญชาออกมาได้ โดยสูตรที่มีสารทีเอชซี (THC) สูงจะได้ประมาณ 1 หมื่นขวด สูตรทีเอชซีต่อซีบีดี (CBD) สัดส่วน 1 ต่อ 1 ประมาณ 3,000-3,500 ขวด และสูตรซีบีดีสูงประมาณ 500 ขวด ส่วนเรื่องการกระจายน้ำมันกัญชานั้น ส่วนหนึ่งให้กับกรมการแพทย์เพื่อดำเนินการตามโครงการศึกษาวิจัยที่มีข้อตกลงร่วมกัน อีกส่วนจะให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ดำเนินการพิจารณาให้กับผู้ป่วยที่ได้ยื่นขอนิรโทษกรรมการครอบครองไว้ ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือกับอย.เพิ่มเติมอีกครั้ง ส่วนกรณีปลดล็อกการนำเข้าเมล็ด เรื่องนี้มองว่าต้องดูให้ละเอียดเพราะถ้าเป็นสายพันธุ์ที่มีซีบีดีสูงจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าสายพันธุ์ที่มีทีเอชซีสูงจะต้องพิจารณาถี่ถ้วน จึงต้องแยกกัน

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานบอร์ด อภ.

ขณะที่ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รวม 662 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำมันกัญชาสูตรทีเอชซี 1.7 เปอร์เซ็นต์ ได้ 8-9 พันขวด ขวดละ 5 ซีซี ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ สามารถดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ประมาณ 1 พันคน และกระจายให้สถานพยาบาลอื่นๆ ด้วย ส่วนล็อตหน้าจะออกมาในวันที่ 20 กันยายน ประมาณ 1.5 หมื่นขวด วันที่ 10 ตุลาคมจะได้ 3-3.2 หมื่นขวด ขณะที่สารซีบีดี จะสกัดจากกัญชาที่ปลูกเอง ซึ่งจะได้ราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 อีกประมาณ 4.2 พันขวด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้จะมีการหารือร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เกี่ยวกับเรื่องการทำดีเอ็นเอบาร์โค๊ด และหารือกับกลุ่มเกษตรแห่งชาติ หารือเรื่องระบบการปลูกที่มีคุณภาพเหมาะสม

“จริง ทางรพ.อภัยภูเบศร ไม่ได้อยากทำเรื่องกัญชาตั้งแต่แรก แต่เห็นมีการหามส่งผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาจำนวนหนึ่ง เราไม่อยากเห็นแบบนี้อีก เลยมีการติดตาม ศึกษาเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด วันนี้ประชาชนตื่นตัว และถูกทำให้เชื่อว่าเป็นยาวิเศษที่รักษาได้สารพัดโรค ซึ่งต้องบอกว่าน้ำมันกัญชาก็มีประโยชน์แต่ต้องใช้อยู่ถูกวิธี เรากังวลมากที่มีการลิสต์รายชื่อว่ากัญชารักษาได้กว่า 49 โรคนั้น มีหลายโรคที่การใช้กัญชาอาจจะก่อให้เกิดผลเสีย เช่น กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะกัญชามีผลไปขยายหลอดเลือด ความดันตก ใจสั่น ดังนั้นต้องระวังให้มาก” ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร