ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” ย้ำรัฐบาลหนุน นำกัญชาใช้ทางการแพทย์ อยู่ในขอบเขตรักษาโรค ส่งเสริมภูมิปัญญาแผนไทย ช่วยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนการปลูกต้องทำโดยมีข้อบ่งชี้ในขอบเขตจำกัดกับหน่วยงานของรัฐ วิสาหกิจชุมชน ขออนุญาตถูกต้อง ส่วนการอนุญาตให้ปลูกทุกบ้าน จะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนมีองค์ความรู้ มีความเข้าใจและมีวินัยในการใช้กัญชา

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิจัยเชิงคุณภาพ มุมมองหลากมิติของการกำหนดทิศทางกัญชาทางการแพทย์ (Mapping the Thai Approach) และปาฐกถาพิเศษ “กัญชาทางการแพทย์นำไปสู่มิติที่หลากหลายของสังคม” จัดโดยองค์การเภสัชกรรม ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และภาคีเครือข่ายการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิชาการ ภาคประชาสังคม (NGO) และสื่อมวลชน เพื่อระดมความคิดเห็น ประสบการณ์ และแนวคิดการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในเชิงลึก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กัญชาอยู่ในสังคมไทยมานาน มีการปลูก มีในตำรับยาแผนไทยมากว่า 300 ปี จึงเป็นที่ยอมรับว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์ ก่อนที่จะถูกกำหนดว่าเป็นยาเสพติด เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับทั่วโลก ทำให้องค์ความรู้เรื่องกัญชา ขาดการวิจัยและพัฒนา ถูกลบเลือนหายไปในที่สุด เนื่องจากกลัวเรื่องผิดกฎหมาย ในขณะที่ต่างประเทศ มีการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องจริงจัง พบว่ากัญชามีสารสำคัญ มีคุณค่าทางการแพทย์ ถูกนำไปใช้ในการรักษาโรค บางประเทศพัฒนาไปใช้ในอุตสาหกรรม อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สร้างมูลค่าให้สูงขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า รัฐบาลสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ขยายขอบเขตการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงในวงกว้าง แต่ยังอยู่ในขอบเขตในเรื่องการรักษาโรคใช้ภายในประเทศ ส่งเสริมภูมิปัญญาแผนไทย ช่วยให้ผู้ป่วยทั่วไปคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเรื่องการปลูก ทำโดยมีข้อบ่งชี้ ในขอบเขตจำกัด กับหน่วยงานของรัฐ วิสาหกิจชุมชน โดยขออนุญาตอย่างถูกต้อง ส่วนการอนุญาตให้ปลูกทุกบ้าน จะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนมีองค์ความรู้ มีความเข้าใจและมีวินัยในการใช้กัญชา

“วัตถุประสงค์ที่สำคัญเรื่องกัญชา คือการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัย การพัฒนา ให้ได้สารสกัดที่มีประโยชน์ มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่า ต่อสังคมและประชาชนมากที่สุด ขณะนี้รอผลการรักษา ถ้าการรักษาได้ผลดี หรืออย่างน้อยที่สุดไม่เลวลง ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการใช้น้ำมันกัญชา ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จะเป็นข้อมูลทำให้การพัฒนากัญชาขยายไปในวงกว้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพต่างๆ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ด้านรายได้ของประเทศและรายได้ประชากร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ. มีภารกิจในการดูแลยาและวัคซีนให้เพียงพอใช้ภายในประเทศ ซึ่งยากัญชาเป็นนวัตกรรมที่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยได้ดำเนินการโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ศึกษาวิจัย และพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ตั้งแต่การเพาะปลูก การสกัด ตลอดจนเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา เพื่อให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีปริมาณสารสำคัญที่ใช้เป็นยาสูง โดยยึดหลักต้องปลอดภัย(Safety) ทุกขวดที่สกัดออกมาต้องมีสารมีฤทธิ์ของยาที่ใกล้เคียงกันหมด (Consistency) และต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy) เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้เชิญดร.มาติน วู้ดบริด ซึ่งเป็นนักเภสัชวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์ มีประสบการณ์การทำงานที่ Medsafe กระทรวงสาธารณสุข ประเทศนิวซีแลนด์ ในฐานะ Medicines Quality Specialist และเป็นผู้เขียนหลักเกณฑ์คู่มือกัญชาทางการแพทย์ของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยได้แนวคิด สามารถกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ และนำหลักการปฏิบัติที่ดีของการใช้กัญชาทางการแพทย์ในระดับนานาชาติมาบูรณาการกับด้านเศรษฐกิจ สังคม จากกัญชาทางการแพทย์ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สร้างความเข้าใจถึงอุปสรรค และโอกาส อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการ ระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับนักวิจัย นักวิชาการ และแพทย์ โดยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และดำเนินงานวิจัยร่วมกันต่อไป