ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มีคำสั่งเพิกถอน มติ ก.พ. กรณี 12 นวก.สธ.ร้องขอความเป็นธรรม บรรจุ ขรก.รอบ 3 ถูกเปลี่ยนหลักเกณฑ์บรรจุจาก “คัดเลือก” เป็น “สอบแข่งขัน” แกนนำผู้ฟ้องคดีฯ ระบุ ยืนยันคำสั่งไม่ชอบธรรมซ้ำ หลัง ก.ย. ปี 61 เคยมีคำพิพากษาเดียวกันกรณีกลุ่ม จพ.สธ.จากมตินี้แล้ว แถมยังเลือกปฏิบัติ กำหนดให้สอบ 2 จาก 26 วิชาชีพสาธารณสุข เฉพาะสายงาน นวก.สธ. และ จพ.สธ. เสนอ รมว.สธ.คนใหม่ เร่งแก้ปัญหา สร้างความเป็นธรรมในระบบ พร้องผลักดัน สธ.ออกจาก ก.พ.

นายพัทธพล อักโข

นายพัทธพล อักโข แกนนำผู้ฟ้องคดีกรณี ก.พ.ยกเลิกการคัดเลือกบรรจุเจ้าพนักงาน (จพ.) สาธารณสุขชุมชน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ 12 นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ได้รับผลกระทบจากมติสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร. ๑๐๐๔.๒/๓๐ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นประกาศสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข ได้ขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองขอนแก่น โดยร่วมยื่นฟ้อง ก.พ. และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ล่าสุดศาลปกครองชั้นต้นขอนแก่นได้มีคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนมติหนังสือสำนักงาน ก.พ.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมให้ร่วมดำเนินการคัดเลือกผู้ฟ้องคดีบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากตามมติ ครม. สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้อนุมัติอัตราบรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข 20,000 อัตรา ตามที่ได้มีการเรียกร้อง เพื่อยกสถานะกลุ่มลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการ โดยครอบคลุม 26 วิชาชีพด้านสาธารณสุข อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร รวมถึงนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) และเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) และได้แบ่งการบรรจุ 3 รอบ คราวละ 7,500 อัตรา โดยในปี 2555 และ 2556 ไม่มีปัญหา แต่ในปี 2557 ปรากฏว่า ก.พ.ได้มีมติให้ 2 สายวิชาชีพ คือ นวก.สธ. และ จพ.สธ. จากที่เป็นการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เพื่อบรรจุให้เป็นการสอบแข่งขันแทน ส่งผลให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การบรรจุได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากการบรรจุ นวก.สธ. และ จพ.สธ. ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 รอบ เป็นการคัดเลือก นอกจากนี้ยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะในการบรรจุมีทั้งหมด 26 วิชาชีพด้านสาธารณสุข แต่มีเพียง 2 วิชาชีพที่ถูกให้ต้องสอบแข่งขัน ขณะที่อีก 24 วิชาชีพยังคงใช้หลักเกณฑ์คัดเลือกตามเดิม

นายพัทธพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองขอนแก่นได้มีคำพิพากษาในส่วนของ จพ.สธ. ที่ได้ยื่นฟ้องในกรณีเดียวกันมาแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561 เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความไม่ชอบธรรมต่อคำสั่งดังกล่าว โดยในส่วนของ จพ.สธ. หลังจากที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษา ทาง ก.พ.ได้มีการยื่นคำร้องเพื่ออุทธรณ์คำพิพากษา ทำให้ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด ขณะที่ในส่วนของคำพิพากษาของกลุ่ม นวก.สธ. คงต้องรอดูว่าทาง ก.พ.จะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่

“คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นชี้ให้เห็นว่า ผู้ฟ้อง คือ นวก.สธ. และ จพ.สธ. ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบรรจุตำแหน่งข้าราชการในอัตราดังกล่าว ทั้งที่จบจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน เป็นลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวที่มีคุณสมบัติเหมือน แต่ในการบรรจุรอบที่ 3 กลับถูกเปลี่ยนให้ต้องทำการสอบแข่งขันแทน เป็นเหตุให้หลายคนที่เป็นผู้ที่สมควรได้รับบรรจุตามอัตราดังกล่าวไม่ได้รับการบรรจุ ทำให้เกิดความเสียหาย มีผลในเรื่องของอายุราชการและความก้าวหน้า กระทบต่อขวัญกำลังใจ”

นายพัทธพล กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของตนเอง ขณะนี้ได้บรรจุเป็นข้าราชการแล้ว เพราะสามารถสอบผ่านการแข่งขัน แต่ยังคงทำหน้าที่เป็นแกนนำเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้ที่เรียกร้องความเป็นธรรมตั้งแต่แรก และยังมีเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ยังได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมของคำสั่งดังกล่าว โดยบางคนทำงานในวิชาชีพมานานกว่า 15 ปีแล้วยังไม่ได้รับการบรรจุ

นายพัทธพล กล่าวว่า ในกระทรวงสาธารณสุขมีหลายวิชาชีพที่ร่วมทำงานดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งต้องมีทั้งสายวิชาชีพหลักและสายวิชาชีพสนับสนุน โดยส่วนใหญ่ นวก.สธ. และ จพ.สธ.กระจายปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำงานทั้งในด้านส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค รักษาพยาบาลเบื้องต้น และติดตามดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง ดังนั้นควรดูแลในเรื่องขวัญกำลังใจให้เท่าเทียมกับวิชาชีพอื่น ไม่เช่นนั้นจะทำให้อัตรากำลังในพื้นที่ขาดแคลนได้ เพราะจะมีส่วนหนึ่งตัดสินใจลาออก หรือเปลี่ยนไปทำงานสายวิชาชีพอื่นเนื่องจากขาดขวัญกำลังใจ

อย่างไรก็ตามปัญหาขวัญกำลังใจกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าจะมีการเรียกร้องมานานแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะติดหลักเกณฑ์และการพิจารณา ก.พ. ทั้งที่สายวิชาชีพสาธารณสุขเป็นงานที่ต้องทำงานกับคน ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บตาย ต้องใช้คนในการทำงาน จึงกำหนดใช้หลักเกณฑ์เดียวกับหน่วยงานอื่นไม่ได้ ที่ผ่านมาได้เคยมีข้อเสนอแยกกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ.แล้ว เพราะเรื่องปัญหาอัตรากำลังคนและค่าตอบแทนไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคนในกระทรวงสาธารณสุขเอง

“วันนี้ผมเสนอให้ รมว.สาธารณสุข คนใหม่เร่งแก้ปัญหาขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันบรรจุข้าราชการโดยกระจายให้กับสายสนับสนุนอย่างเป็นธรรม ไม่เกิดกรณีเลือกปฏิบัติ รวมถึงการแยกกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ. เพื่อให้สามารถบริหารจัดการบุคลากรได้เช่นเดียวกับวิชาชีพครู มีความก้าวหน้าและขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลปกครองชั้นต้นสั่งเพิกถอนมติ ก.พ. “จพ.สาธารณสุขชุมชน” ใช้วิธีคัดเลือกบรรจุเหมือนเดิม