ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบผู้ตรวจฯ ผู้บริหารตรวจสอบหากพบ รพ.หรือบุคลากรคนไหนใช้ปัสสาวะรักษาโรค ให้ไม่ใช่มาตรฐานการแพทย์ ด้าน กรมแพทย์แผนไทยฯไม่แนะนำ “ปัสสาวะบำบัด” หากหมอแผนไทยใช้ต้องระวัง!

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีชาวบ้าน ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ดื่มปัสสาวะ พร้อมนำมาล้างหน้า ล้างตาเพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันรักษาโรคได้ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายที่อ้างว่าเป็นครู เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข ที่มีการโพสต์ข้อความระบุว่าดื่มกินปัสสาวะเพื่อรักษาโรค และผ่านการอบรมมาจากสำนักหนึ่ง ในจังหวัดมุกดาหาร ว่า ตนขอย้ำว่าปัสสาวะเป็นของเสียในรูปแบบเหลวที่ร่างกายไม่ต้องการ ประกอบไปด้วยสารยูเรีย ถึงแม้ไม่ได้มีพิษรุนแรง แต่ก็สามารถสร้างความระคายเคืองให้แก่ผิวหนังและดวงตาได้ การนำปัสสาวะมาอ้างใช้รักษาโรคต่างๆ กันเอง โดยที่ไม่รู้สรรพคุณ และไม่มีผลการยืนยันจากแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่อันตราย อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ไม่ควรที่จะทำตาม ซึ่งตนเป็นห่วงและอยากให้ทุกคนนั้นระมัดระวังและศึกษาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนที่จะเชื่ออะไรตามกระแส

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอย้ำว่าการการใช้ปัสสาวะไม่ใช่มาตรฐานการรักษาโรค ไม่อนุญาตให้มีการนำมารักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล เรื่องนี้ได้กำชับกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ทุกเขต ในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ และอย่าให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีการใช้ในรพ.นั้น ขอให้ช่วยกันชี้เป้าเพื่อที่เราจะได้ตรวจสอบอย่างตรงจุด

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีคนกลุ่มหนึ่งมองว่าการดื่มน้ำปัสสาวะเป็นการแพทย์ดั้งเดิมที่มีแต่โบราณ สามารถบำบัดรักษาโรคได้ ว่า ปัสสาวะบำบัดนั้น เป็นศาสตร์ดั้งเดิม ซึ่งเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ ณ ปัจจุบันการแพทย์ก้าวไกลไปมาก เราไม่จำเป็นต้องใช้น้ำปัสสาวะมารักษาโรค อีกทั้ง น้ำปัสสาวะก็มีของเสีย ของที่เกินออกมาที่ไตขับออกมา ยิ่งเป็นน้ำปัสสาวะของผู้ป่วย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการติดโรคได้ ซึ่งจะมั่นใจได้อย่างไรว่า น้ำปัสสาวะที่รับมาไม่มีเชื้อโรค ซึ่งเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะน้ำปัสสาวะจากผู้หญิงจะยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากท่อปัสสาวะเพศหญิงสั้นกว่าเพศชาย ทำให้เสี่ยงน้ำปัสสาวะปนเปื้อนทางทวารหนัก ขณะที่เพศชายก็เสี่ยงเช่นกัน ทางที่ดีอย่ารับประทานดีที่สุด มีวิธีในการรักษาอื่นๆอีกมาก

“กรมการแพทย์แผนไทยฯ ไม่แนะนำให้รักษาโรคด้วยน้ำปัสสาวะบำบัด ไม่ว่าจะดื่ม หยอดตา หรืออะไรก็ตาม แม้ในอดีตจะมีการบันทึกว่า เคยนำมาใช้ อย่างปัสสาวะเด็ก หรือการนำมาดองกับลูกสมอ แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยน เชื้อโรคมีมากมาย อย่าเสี่ยงดีที่สุด” นพ.มรุต กล่าว

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีถ้าเป็นแพทย์แผนไทย หรือแพทย์พื้นบ้านรักษาโรคด้วยน้ำปัสสาวะจะถือว่าผิดหรือไม่ นพ.มรุต กล่าวว่า ก็ต้องดูเงื่อนไขของแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน สิ่งสำคัญคือ การไปรักษาทำให้เสียโอกาสการรักษาโรคหรือไม่ หรือไปแนะนำว่าอย่างไร ตรงนี้หากมีการร้องเรียนเราก็พร้อมตรวจสอบ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากน้ำปัสสาวะเป็นของเสียหรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายที่ไตขับออกมา แม้ว่าจะมีสารต่าง ๆ อยู่มาก ทั้งยูเรีย เกลือแร่ แคลเซียม และโซเดียมคลอไรด์ รวมถึงสารอื่น ๆ แต่สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินความต้องการของร่างกาย หากสะสมไว้มากเกินไปกลับจะเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นเกิดภาวะความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ร่างกายจึงขับทิ้งตามระบบ ดังนั้นหากดื่มกลับเข้าไปซ้ำอีก จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย นอกจากนี้น้ำปัสสาวะที่ขับออกมายังอาจปนเปื้อน อุจจาระ ทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ อย่างเชื้อบิด อาจติดต่อไปยังผู้อื่นที่นำน้ำปัสสาวะนั้นมาดื่ม นอกจากนี้ไตซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองของเสียออกจากร่างกาย ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะต้องขับของเสียออกซ้ำและอาจเกิดการคั่งค้างของสารต่าง ๆในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารให้เหมาะสม อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

น.ส.ประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หากพบว่ามีพยาบาลนำปัสสาวะมาใช้รักษาคนไข้จริง ถือว่ามีความผิด เพราะปัสสาวะไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ในการรักษาคนไข้ ไม่ใช่ศาสตร์และศิลป์ของการประกอบวิชาชีพพยาบาล ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์และการแพทย์แผนปัจจุบัน ดังนั้น ปัสสาวะจึงไม่ใช่สิ่งที่พยาบาลจะนำเอามารักษาคนไข้หรือนำมาใช้ล้างบาดแผล หรือเป็นยาฆ่าเชื้อแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งหรืออีกศาสตร์หนึ่ง ก็ทราบมาเหมือนกันถึงการรักษาทางเลือก โดยใช้ปัสสาวะ ในการใช้น้ำปัสสาวะของเจ้าตัวมาบอกถึงธาตุ ความเจ็บป่วยของตัวเอง นำน้ำปัสสาวะเจ้าตัวมาใช้ในการรักษาตัวเองได้ แต่ตรงนี้เป็นอีกศาสตร์หนึ่ง แต่ย้ำว่า ศาสตร์และศิลป์ของการพยาบาล ปัสสาวะไม่ใช่ยารักษาโรค