ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยน้ำปัสสาวะเป็นของเสียหรือสารที่เป็นส่วนเกินที่ไตขับออกมา อันตรายอย่าเสี่ยงลอง ด้านกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอตรวจสอบกรณีมีนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ เขียนบทความเรื่อง ปัสสาวะบำบัด เผยแพร่เว็บไซต์ของกองการแพทย์ทางเลือก

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ถึงกรณีมีชาวบ้าน ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ดื่มปัสสาวะ พร้อมนำมาล้างหน้า ล้างตา เนื่องจากเชื่อว่าสามารถป้องกันรักษาโรคได้ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายที่อ้างว่าเป็นครู เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข ที่มีการโพสต์ข้อความระบุว่าดื่มกินปัสสาวะเพื่อรักษาโรค และผ่านการอบรมมาจากสำนักหนึ่ง ในจังหวัดมุกดาหาร ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่ามีพยาบาลนำไปใช้ในการล้างแผลผู้ป่วย นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่รู้เรื่อง

เมื่อถามย้ำว่าต้องมีการเตือนอะไรหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องแบบนี้ต้องให้เตือนด้วยหรือ

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความจริงแล้วการใช้น้ำปัสสาวะบำบัดไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์และคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับ ซึ่งหากนำมาใช้โดยไม่ระวังอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงมีทางเลือกในการรักษาโรคหลากหลายช่องทาง ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก ดังนั้นจึงควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพการรักษาเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายมุ่งเน้นทางด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย โดยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางแก่ประชาชนอยู่ทั่วประเทศ จึงอยากให้ประชาชนเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นวิธีการรักษาโรคที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากกว่าทางเลือกอื่น

“ สำหรับวิธีรักษาโรคที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด ไขมันสูง กินผักและผลไม้ให้มาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปี ในกรณีหากพบความผิดปกติของร่างกาย ต้องรีบพบแพทย์ใกล้บ้านและรักษาและปฏิบัติตัวภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด” นายสาธิต กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากน้ำปัสสาวะเป็นของเสียหรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายที่ไตขับออกมา แม้ว่าจะมีสารต่าง ๆ อยู่มาก ทั้งยูเรีย เกลือแร่ แคลเซียม และโซเดียมคลอไรด์ รวมถึงสารอื่น ๆ แต่สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินความต้องการของร่างกาย หากสะสมไว้มากเกินไปกลับจะเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นเกิดภาวะความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นต้น ร่างกายจึงขับทิ้งตามระบบ ดังนั้น หากดื่มกลับเข้าไปซ้ำอีก จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย นอกจากนี้น้ำปัสสาวะที่ขับออกมายังอาจปนเปื้อน อุจจาระ ทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ อย่างเชื้อบิด อาจติดต่อไปยังผู้อื่นที่นำน้ำปัสสาวะนั้นมาดื่ม นอกจากนี้ไตซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองของเสียออกจากร่างกาย ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะต้องขับของเสียออกซ้ำและอาจเกิดการคั่งค้างของสารต่าง ๆในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารให้เหมาะสม อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เรื่องนี้ตนขอเวลาตรวจสอบอีกครั้ง รวมถึงการจะมีการสอบถามข้อเท็จจริงกรณีที่มีนายแพทย์ชำนาญการพิเศษรายหนึ่งเคยเขียนบทความเรื่อง ปัสสาวะบำบัด (Urine Therapy) เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกองการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่ามีการระบุว่า ปัสสาวะบำบัดคือ การใช้ปัสสาวะของตัวเองเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค โดยไม่ใช้ยาและยังช่วยส่งเสริมสุขภาพ