ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ส.ส.ชลบุรี ปชป.นำกลุ่มผู้พิการเข้ายื่นหนังสือ “สาธิต ปิตุเตชะ” วอนช่วยหลังประสบปัญหาประเด็นวินิจฉัยความพิการ ยกตัวอย่าง ตาบอดข้างหนึ่ง บางหน่วยงานไม่นับว่าพิการ ทำเสียสิทธิการรักษา พร้อมขอออกใบรับรองแพทย์ให้ผู้พิการแบบตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายไพฑูรย์ วชิรวงศ์ภิญโญ ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำผู้พิการจำนวนหนึ่งมายื่นหนังสือต่อนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ประเด็นมาตรฐานทางการแพทย์สำหรับผู้พิการ โดยมีนายเรวัติ อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับอบหนังสือ

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนถึงความเดือดร้อนของผู้พิการเข้ามาจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล เรื่องยาที่มีมาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการวินิจฉัยความพิการของหน่วยงานต่างๆ แตกต่างกัน วันนี้จึงได้ร่วมกันมายื่นหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีการพิจารณาออกใบรับรองแพทย์ให้กับผู้พิการเป็นแบบตลอดชีวิต เพราะการที่ให้ผู้พิการต้องเดินทางมาขอรับใบรับรองตลอดนั้นสร้างความยากลำบาก ทั้งๆ ที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่ามีความพิการรักษาไม่หาย

นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า และขอให้ปรับเกณฑ์การวินิจฉัยและรับรองความพิการ เพราะปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมองอย่างหนึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มองอีกอย่าง หน่วยงานอื่นๆ ก็มองอีกอย่างหนึ่ง เช่น กรณีตาบอดหนึ่งข้าง บางหน่วยงานบอกว่าเป็นความพิการ แต่บางหน่วยงานบอกว่ายังสามารถดำรงชีพได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเกิดปัญหา ทำให้ไม่ได้รับสิทธิในการดูแลผู้พิการ ขณะที่สถานประกอบการไม่รับคนเหล่านี้เข้าทำงานเพราะมองว่าเป็นคนพิการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าผู้พิการไม่สามารถทำประกันชีวิต ประกันภัยต่างๆ ได้ เพราะนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มองว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดปัญหา เช่น เวลาเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางคนที่ไม่พิการสามารถทำประกันภัยได้ก็ได้รับการดูแล แต่ผู้พิการบาดเจ็บ เสียชีวิตไม่มีประกันเหล่านี้คอยดูแล

“ตอนนี้ผู้พิการในประเทศไทยมีเป็นล้านคน และเท่าที่มีการรวบรวมข้อมูล มีหลายแสนคนที่ได้รับความเดือนร้อน จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งจากนี้จะไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ พม.เช่นเดียวกัน หลังจากก่อนหน้านี้ไปยื่นมาเกี่ยวกับโครงการจ้างงานผู้พิการที่พบว่ามีการหักหัวคิว โกงเงินผู้พิการ” นายไพฑูรย์ กล่าว

นายเรวัติ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ตนรับและขอเวลา 1 เดือนในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยอยู่แล้ว ส่วนเรื่องสำคัญที่ต้องไปหารือต่อคือการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำฐานข้อมูลผู้พิการเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อลดการซ้ำซ้อน และลดความยุ่งยากของผู้พิการ รวมถึงเรื่องปัญหาการทำประกันภัยของผู้พิการก็ต้องมีการพิจารณาต่อเช่นเดียวกัน