ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ศิริราชพยาบาลเผยข้อมูลผลศึกษาจีน-สหรัฐ ติดตาม 15 ปีพบฝุ่น PM2.5 กระตุ้นกลุ่มเสี่ยงป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ป่วยเร็วขึ้น แต่ไทยยังไม่มีข้อมูล ต้องติดตามสถิติเปรียบเทียบ 

 

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562  ที่โรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์           ศิริราชพยาบาล แถลงข่าว“การเตรียมรับมือคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ” ว่า จากปัญหามลพิษในอากาศของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ที่รุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีก่อนตลอดมาจนถึงต้นปีนี้ แล้วจึงค่อย ๆ ดีขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จนเมื่อเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่มาปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนที่แล้ว ทำให้เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (temperature inversion) คุณภาพอากาศจึงแย่ลงเร็วจากมลพิษในอากาศ ที่ไม่สามารถฟุ้งกระจายออกไปได้ตามปกติ ยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ยิ่งมีการสุมของฝุ่น เพราะพื้นที่มีทั้งมลพิษจากรถยนต์ อุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้น แสดงว่ายังไม่สามารถควบคุมแหล่งการผลิตมลพิษเหล่านี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม การก่อสร้าง และกิจกรรมประจำวันของประชากรกรุงเทพฯ และคาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับต่อไป 

 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า จากสภาพอากาศดังกล่าวเมื่อช่วงเย็นของวันที่  30 กันยายน 2562 ทำให้มีการจัดอันดับว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ซึ่งสิ่งสำคัญต้องมีมาตรการในการป้องกัน ขณะที่ประชาชนก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม อย่างการเข้าไปตรวจวัดคุณภาพอากาศเองได้จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ และสวมหน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากอนามัยธรรมดาสวม 2 แผ่นซ้อนกัน และหากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงไปยังบริเวณค่าฝุ่น PM2.5 สูง เนื่องจากผลกระทบด้านสุขภาพเฉียบพลันที่เห็นชัด คือ แสบหู แสบตา แสบคอ คันระคายเคือง แต่ที่น่ากังวล คือระยะยาว ไม่สามารถทราบได้ว่าตัวฝุ่นPM2.5 จะไปกระตุ้นให้กับผู้ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ให้เป็นเร็วขึ้นหรือไม่ เพราะยังไม่มีการเก็บข้อมูลชัดเจนตรงนี้

 

 


เบื้องต้นข้อมูลจากจีนและสหรัฐอเมริกา พบว่าฝุ่น PM2.5 อาจเข้าไปในเม็ดเลือด และมีความเสี่ยงในการกระตุ้นให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวที่มีปัจจัยในการเป็นโรคอยู่แล้ว เป็นได้เร็วกว่าปกติ แต่ข้อมูลเหล่านี้ในจีนและสหรัฐฯ ติดตามสถานการณ์และมีการเปรียบเทียบคนในชุมชนเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งประเทศไทยไม่มีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ เบื้องต้นอาจต้องรอข้อมูลทางระบาดวิทยาในช่วงเดือนกันยายน ว่า มีผู้ป่วยอาการกำเริบหรือไม่อย่างไร

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเก็บข้อมูลที่รพ.ศิริราช พบว่า โรคปอดและโรคถุงลมโป่งพองช่วงเดือนธันวาคม 2561 ถึงกุมภาพันธ์ 2562 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่นขนาดจิ๋วเท่านั้น แต่รวมถึงแก๊สและโลหะหนักด้วย ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งหน่วยงานเกี่ยวข้องมาดูแล ทั้งเรื่องการจัดโซนนิ่งปลอดภัย และระบบการดูแลสุชภาพภาพรวม ซึ่งหากรุนแรงขึ้นอาจต้องใช้ตัวอย่างจากสหรัฐฯที่มีกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศ ทำเป็นคณะกรรมการอิสระมาดูแล เบื้องต้นเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

 

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาขน ร่วมมือกันเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว อย่างการให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงพิษภัยของมลพิษในอากาศ ที่มีผลคุกคามต่อทุกคนโดยเฉพาะเยาวชน สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง และอยากให้มีการปรับเกณฑ์การวัดค่าคุณภาพอากาศให้เป็นไปตามองค์การอนามัยโลก เนื่องจากปัจจุบันไทยหากคุณภาพอากาศอยู่ในกลุ่มสีส้มเข้ม จะเท่ากับสีแดงของสหรัฐ ซึ่งจริงๆส่งผลกระทบต่อร่างกายแล้ว หากปรับตรงนี้จะทำให้เราตระหนักในการป้องกันตัวเองมากขึ้น 

 

รศ.นพ.นริศ กล่าวอีกว่า พร้อมทั้งต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย ทั้งการควบคุมปริมาณและคุณภาพยานพาหนะ การจำกัดกระบวนการก่อสร้าง ลดกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรม และควบคุมการเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการปิดสถานศึกษาและสถานที่ทำงานของภาครัฐและเอกชน อีกทั้ง หากคุณภาพอากาศแย่มากๆควรมีการจัดหาสถานที่หลบภัยในแต่ละชุมชนให้เพียงพอ เพื่อเป็นที่พักอาศัยของประชากรกลุ่มเสี่ยง

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง