ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกรพร้อมร่วมมือ ลดความแออัดในรพ. นำร่อง 4โรค ส่งต่อร้านยา มั่นใจให้บริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย เทียบเท่าเภสัช 2 คน ดูแลผู้ป่วย 1 คน

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ภสท) จัดประชุมหารือระหว่างภาคีเครือข่ายเภสัชกรวิชาชีพต่างๆอาทิ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) สมาคมร้านขายยา ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย) สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ สมาคมเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ชมรมเภสัชกรภาคใต้ และชมรมเภสัชกรรุ่นใหม่ เพื่อระดมสมองการผลักดันนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ภายในการประชุม ภาคีเครือข่ายเภสัชกรแสดงเจตนารมณ์ สนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งหวังให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และ ปลอดภัย ตลอดจนการลดความแออัดในโรงพยาบาล ที่จะดำเนินการโดยให้ร้านขายยานำร่องทดลองทำหน้าที่เสมือนสาขาห้องยาให้โรงพยาบาล 4 โรค คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคจิตเวช และหอบหืด เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริบาลทางเภสัชกรรม ที่เภสัชกรโรงพยาบาลสามารถเพิ่มการบริบาลทางเภสัชกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาล และกระจายภาระงานบางอย่างให้เภสัชกรประจำร้านขายยา เสมือนว่าผู้ป่วยของโรงพยาบาล 1 คน จะมีเภสัชกรช่วยดูแล 2 คน

 

นโยบายนี้ จะช่วยให้ เภสัชกรโรงพยาบาลสามารถเพิ่มการดูแลผู้ป่วยในด้านคลินิกร่วมกับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ เช่นการดูแลผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล และผู้ป่วยนอก การเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ตลอดจนการส่งเสริมป้องกันโรค ส่วนเภสัชกรประจำร้านขายยาจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระเภสัชกรโรงพยาบาลในการจ่ายยาตามแพทย์สั่ง ให้ข้อมูลการใช้ยา การคัดกรองโรค การแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดการด้านยา และการคุ้มครองผู้บริโภค

ดังนั้น เภสัชกรทุกสาขาวิชาชีพ จะร่วมเดินหน้าทำให้นโยบายดังกล่าวสามารถเกิดได้จริง แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างวิชาชีพสาธารณสุข หรือแม้ในวิชาชีพเภสัชกรรมด้วยกันเอง ตลอดจนการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและใช้ประโยชน์จากการเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพในการบริบาลทางเภสัชกรรม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือแนวทางความร่วมมือเพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้

1.การสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างวิชาชีพสาธารณสุข และในวิชาชีพเภสัชกรรมด้วยกันเอง ตลอดจนการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าวให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มคุณภาพความปลอดภัย ซึ่งเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ยินดีเป็นหน่วยงานกลางในการสื่อสารสร้างความเข้าใจในภาคีเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม

2.การสร้างระบบพี่เลี้ยง โดยเภสัชกรโรงพยาบาลจะเป็นพี่เลี้ยงให้เภสัชกรประจำร้านขายยาในช่วงเริ่มต้นเพื่อให้เกิดการส่งผ่านการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

3.การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพการบริบาลทางเภสัชกรรม การควบคุมมาตรฐานคุณภาพของการให้บริการ และระบบการจัดการความเสี่ยงในการจัดการด้านยา เพื่อผลการรักษาสูงสุดต่อผู้ป่วยโดยหน่วยงานหลักในการพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวได้แก่สภาเภสัชกรรม และวิชาชีพเภสัชกรรมภาคการศึกษา

4. การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลบริการอิเล็กทรอนิกส์ การจัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วย เชื่อมโยงข้อมูลและส่งต่อผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อสามารถใช้ร่วมกันกับผู้ให้บริการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องทั้งโรงพยาบาล ร้านขายยา และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ

5.การติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง

ภาคีเครือข่ายเภสัชกร มีความกระตือรือร้น และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับโครงการนำร่องที่ให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคจิตเวช และหอบหืด รับยาจากร้านขายยา สามารถปฎิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มคุณภาพ ความปลอดภัย ลดความแออัดในโรงพยาบาล และหวังว่าจะมีการขยายโครงการในโรคอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

ติดตามความคืบหน้าของ โครงการเพื่อการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพและปลอดภัย ลดความแออัด ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ได้ในการประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 8-9 พฤจิกายน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ลงทะเบียนได้ที่ https://www.pat.or.th/ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ฝ่ายบริหารสมาคมฯ โทร. 02-712-1627-8