ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.บำรุงราษฎร์ชูนวัตกรรมสร้างความแตกต่าง เดินหน้าสู่การเป็นผู้นำการบริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่วนปี 2562 เน้นเดินหน้าเรื่อง Excellence Management ประกอบด้วย Clinical Excellence, Operational & People Excellence และ Service Excellence

ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จัดงานแถลงทิศทางการดำเนินงานและนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต ในหัวข้อ “Healthcare Industry: Looking Ahead” เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดย ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์และเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้าของโรงพยาบาลต้องการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่การบริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลก (World-class Holistic Healthcare) อย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นเลิศทางการรักษาขั้นตติยภูมิที่สร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม

ภญ.อาทิรัตน์ กล่าวว่า อุตสาหกรรม Healthcare มีความท้าทายอย่างมาก ในฐานะโรงพยาบาลชั้นนำ บำรุงราษฎร์จะต้องก้าวให้เร็วกว่าปกติ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ปรับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ไอทีต่างๆ เพื่อให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ในอนาคต เช่นเดียวกับบุคลากรล้วนจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และสิ่งสำคัญที่สุดคือการบริหารคน การมีวัฒนธรรมองค์กรเพื่อช่วยหล่อหลอมสร้างทัศนคติเชิงบวก ดึงศักยภาพตัวเองออกมาใช้อย่างเต็มที่ พร้อมเปิดใจเรียนรู้และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร รวมถึงต้องทำงานอย่างมีความสุขในช่วงเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างไร้รอยต่อ

ภญ.อาทิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2562 นี้ โรงพยาบาลได้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นเรื่อง Excellence Management ใน 3 องค์ประกอบหลักๆ ประกอบด้วย 1. Clinical Excellence การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ Excellence Center ต่างๆ โดยเฉพาะสหสาขาวิชาชีพในการรักษาขั้นตติยภูมิเพื่อให้สามารถดูแลรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์และความชำนาญการขั้นสูง พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยและผู้ใช้บริการได้อย่างครอบคลุม

ทั้งนี้ ตัวอย่างการยกระดับสู่ Excellence Center ต่างๆ ของโรงพยาบาลฯ ในปัจจุบัน อาทิ แผนกผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care Unit), ศูนย์หัวใจ (Cardiology Center), ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน (Horizon Cancer Treatment Center), ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ (Digestive Diseases GI Center), ศูนย์โรคระบบประสาท (Neurology Center), ศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery Center), ศูนย์จักษุ (Eye Center) เป็นต้น

2. Operational & People Excellence มุ่งเน้นการดูแลบุคลากรใน 3 ด้าน คือ ให้พนักงานมีความสุข มีอนาคต และเก่งขึ้น โดยจะตั้งคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ 1. ทำอย่างไรให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข สร้าง happy workplace รวมถึงสวัสดิการที่เหมาะสมและกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการของพนักงาน 2. ทำอย่างไรให้พนักงานทำงานและมีอนาคตการทำงานที่ดี โดยสร้าง Fast track ให้กับกลุ่ม talent และมี Career Clinic เพื่อให้พนักงานได้ปรึกษาเพื่อกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าและแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของตัวพนักงานเองได้ 3. ทำอย่างไรให้พนักงานเก่งขึ้น โดยจัดตั้งฝ่าย Bumrungrad Academy มีหน้าที่ในการออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์แต่ละสาขาวิชาชีพ เช่น มีการอบรมด้าน Soft Skill ในการบริหาร มีแผนกด้าน Career Path Development ที่ชัดเจน รวมถึงมีโครงการสำหรับส่งเสริมให้พนักงานขึ้นสู่ระดับบริหารจากภายใน โดยมีการใช้รูปแบบและสื่อที่หลากหลาย ทั้งแบบฝึกอบรม สัมมนา การเรียนรู้แบบ Simulation-based learning รวมทั้งการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่ทุกเวลา

3. Service Excellence โรงพยาบาลยึดหลักการดูแลเอาใจใส่ การพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเข้าถึงของผู้มาใช้บริการให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น Bumrungrad Anywhere ซึ่งเป็นการให้บริการในรูปแบบเทเลเมดิซีน โดยผู้รับบริการสามารถปรึกษาแพทย์ส่วนตัวได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแบบเรียลไทม์ โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการเบื้องต้น รวมทั้งแนะนำแนวทางการรักษา และข้อมูลสุขภาพต่างๆ การเปิดคลินิกพิเศษสำหรับผู้ป่วยนอก หรือ OPD Instant Clinic เพื่อการเข้าถึงบริการที่รวดเร็วขึ้น โดยใช้เวลาตั้งแต่ลงทะเบียน พบแพทย์ จ่ายเงิน และรับยา ภายในเวลา 1 ชม. ซึ่งคลินิกพิเศษนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเล็กน้อย ไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่ต้องการรับวัคซีน หรือรับยาประจำเพิ่ม เป็นต้น

"ทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย อีกทั้งบำรุงราษฎร์ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาใน 3 ส่วนหลักด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง การทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ" ภญ.อาทิรัตน์ กล่าว

ดร.ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์

ด้าน ดร.ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ในช่วง 3 - 5 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลได้ศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงมาปรับใช้ในองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการนำระบบซอฟต์แวร์ Hospital Information System (HIS) เข้ามาปรับใช้ในโรงพยาบาลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลมีความแม่นยำและถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย และสามารถเรียกใช้งานแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ยังมีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ทางการแพทย์ในหลากหลายรูปแบบ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม อาทิ AI/Big Data, Genomics, Robotics, Scientific Wellness และ Telemedicine

ดร.ธีรเดช กล่าวอีกว่า การจัดเก็บข้อมูลในเชิงการแพทย์โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มีความซับซ้อนและค่อนข้างละเอียดอ่อนทั้งในแง่ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสถานพยาบาล ระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข และสิทธิผู้ป่วย ฯลฯ โดยข้อมูล Big Data จะนำไปสู่การพัฒนาการรักษาที่แม่นยำและจำเพาะทางการแพทย์ (Precision Medicine) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ตัวอย่างเช่น โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่ต้องอาศัยการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ ต้องอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุลมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การเลือกรูปแบบการรักษา การเลือกใช้ยา การป้องกันโรค และการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนในด้านของข้อมูลภาพทางการแพทย์ (Medical Imaging) เช่น ผลจากเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), เอกซเรย์ (X-ray), อัลตราซาวด์ (Ultrasound), เครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือผลการรักษาโรคโดยใช้ภาพวินิจฉัย ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์ได้ใช้ระบบ AI ซึ่งได้ผ่านการฝึกฝน (training) โดยการอ่านและวิเคราะห์จากตัวอย่างหลายล้านภาพ เพื่อมาช่วยรังสีแพทย์ (Radiologist) ทำให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำจำเพาะและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของข้อมูล DNA และ Genomics ทางโรงพยาบาลได้ลงทุนในระบบการจัดการบริหารข้อมูล Big Data ที่เรียกว่า Bio Computing Platforms (BCP) ทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูล DNA ของผู้ป่วยกับข้อมูลในแพลตฟอร์มโรงพยาบาลดิจิทัลครบวงจร (Electronic Medical Record - EMR) ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยในปัจจุบัน บำรุงราษฎร์กำลังศึกษาถึงความสัมพันธ์ของยีนและยาเพื่อมุ่งสู่การดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล (personalized medicine) ผ่านการตรวจหาความผิดปกติในหน่วยพันธุกรรม ร่วมกับการเก็บข้อมูลการใช้ชีวิตประจำวันในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เช่น เรื่องอาหาร อากาศ การพักผ่อน เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลวิเคราะห์หาความเสี่ยงในการเกิดโรค เพื่อวางแผนการให้ยาได้อย่างเหมาะกับผู้ป่วยเฉพาะรายบุคคล

นอกจากนี้ บำรุงราษฎร์ยังเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ในประเทศไทยที่ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดระบบดาวินซีเข้ามาช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยหลายระบบอวัยวะ อาทิ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรคระบบตับ น้ำดี ตับอ่อน เช่น มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต เนื้องอกหรือมะเร็งมดลูก เนื้องอกรังไข่ ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน มะเร็งปอด มะเร็งผนังทรวงอก รวมถึงการผ่าตัดทั่วไป เช่น การผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน การผ่าตัดไส้เลื่อน ม้าม เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งมักจะร่วมใช้ในกระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยากทำได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด รวมถึงได้นำหุ่นยนต์ช่วยในการจัดยาสำหรับผู้ป่วยที่นอนพักรักษาในโรงพยาบาล ครอบคลุมตั้งแต่การจ่ายยา การจัดเก็บยา การบรรจุหีบห่อเพื่อใช้ในการบริหารจัดการยาให้กับผู้ป่วย ด้วยเทคโนโลยี Swisslog Pharmacy Robot อีกด้วย

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้นำแพลตฟอร์มการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในรูปแบบ Telemedicine & Teleconsultation ภายใต้ชื่อ AnyWhere Application เป็นเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่ร่วมกับ iDoctor ได้เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาผู้ป่วยและลดข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเชื่อมต่อสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ (Referral Office) ที่มีอยู่ 40 แห่งทั่วโลกได้ และ Remote Interpreter เป็นระบบที่เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ล่ามในการแปลภาษาให้กับผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์การสื่อสารโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปอยู่กับแพทย์หรือผู้ป่วย

ดร. ธีรเดช กล่าวด้วยว่า การนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในองค์กรที่ถือว่าเกิดประสิทธิผลต่อการรักษาผู้ป่วยอย่างมากคือระบบคอมพิวเตอร์ “ไอบีเอ็มวัตสัน” ที่ช่วยในการประมวลผลเพื่อให้แพทย์ตัดสินใจวางแผนการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยบำรุงราษฎร์ได้พัฒนาความก้าวหน้าของศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับรักษาโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล (Precision Medicine) ช่วยทำให้แพทย์สามารถตัดสินใจกำหนดแผนและวิธีการรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยพิจารณาเป็นรายบุคคล ปัจจุบันสามารถรักษาครอบคลุมมะเร็งได้ถึง 13 ชนิด และอีกเทคโนโลยีคือ ซีบรา เอไอ (Zebra AI) เป็น AI ที่ใช้ร่วมกับ CT Scan เพิ่มความแม่นยำในการอ่านข้อมูลทางด้านรังสีรักษา และสามารถตรวจได้ถึง 4 โรคได้ในครั้งเดียวกัน ประกอบด้วยโรคถุงลมโป่งพอง เลือดออกในสมอง ไขมันพอกตับ และภาวะกระดูกแตก

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา ไม่อาจบรรลุเป้าหมายทั้งหมดขององค์กรได้ โรงพยาบาลตระหนักดีว่าการสื่อสารรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษา การมีปฏิสัมพันธ์ การให้กำลังใจผู้ป่วยและการบริบาลอย่างเอื้ออาทร ยังคงเป็นบทบาทสำคัญของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลฯ ทุกคน ในการสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้แก่ผู้ป่วยเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง