ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"กรรณิการ์" กรรมการหลักประกันสุขภาพ ชวนเฝ้าระวังการจัดซื้อวัคซีนโรต้า เผยมีความพยายามล็อคสเปกวัคซีน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทยาข้ามชาติแห่งหนึ่ง กีดกันบริษัทที่ราคาถูกกว่า ชี้จะทำให้ประเทศไทยสูญงบประมาณโดยไม่จำเป็นไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาทต่อปีไปอีกนาน

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้การจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าสำหรับป้องกันโรคท้องร่วงซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติอนุมัติเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบทั้งประเทศไทยนั้น กำลังมีความไม่ชอบมาพากล และเป็นที่น่าสงสัยว่า การจัดหาวัคซีนไวรัสโรต้าครั้งนี้ มีการจงใจให้ผลประโยชน์กับบริษัทยาข้ามชาติอย่างชัดเจน กีดกันบริษัทที่ราคาคาถูกกว่าและทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาทต่อปีไปอีกนาน

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนไวรัสโรต้าที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยโดยองค์การอนามัยโลกจำนวนทั้งสิ้น 3 ชนิด โดยที่ราคาวัคซีนของ 2 บรรษัทข้ามชาติเท่ากันประมาณ 500 บาทต่อเด็ก 1 คน ขณะเดียวกันมีวัคซีนจากอินเดียที่ราคาถูกกว่ามาก คือ ราคาประมาณ 100 บาทต่อเด็ก 1 คน ซึ่งก็เป็นไปตามการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ระบุว่า ไม่ต้องรีบร้อนในการจัดซื้อ เพราะวัคซีนจากอินเดียกำลังขึ้นทะเบียน

แต่ขณะนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า การประมูลจัดซื้อในครั้งนี้กลับไม่ให้บริษัทวัคซีนของอินเดียเข้าร่วมการแข่งขัน โดยองค์การเภสัชกรรมอ้างว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ยังไม่มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนอินเดีย จะต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านอนุกรรมการสร้างเสริมฯ ในคณะกรรมการวัคซีนเท่านั้น

“นี่เป็นข้ออ้างที่น่าตลกมาก เพราะวัคซีนไวรัสโรต้าจากอินเดีย ได้รับการรับรองทั้งจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรวัคซีนระดับโลก คือ Gavi ว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่แตกต่างกันจากวัคซีนของบรรษัทยายักษ์ใหญ่ อีกทั้งผลการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพก็ชี้ชัดเช่นนั้น ไม่เพียงเท่านั้น GAVI ยังได้ดำเนินการจัดหาให้ประเทศต่างๆใช้กับเด็กไปแล้วหลายสิบล้านคน”

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า ที่สำคัญนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานด้านวัคซีนในกระทรวงสาธารณสุขตั้งใจให้ผลประโยชน์แก่บริษัทยายักษ์ใหญ่นี้ เมื่อ 2 ปีก่อน การจัดหาวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้กลายเป็นปัญหาใหญ่และเรื่องขายหน้าของประเทศไทย ครั้งนั้นคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติให้ 2 บริษัทที่มีวัคซีนในตลาดมาเสนอราคาแข่งกัน ปรากฏว่าทั้ง 2 บริษัทเสนอราคาใกล้เคียงกัน คณะอนุกรรมการฯจึงคัดเลือกวัคซีนของบริษัทที่มีจำนวนสายพันธุ์มากกว่าและป้องกันได้ทั้งโรคมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่สำหรับฉีดให้เด็กไทย แต่ปรากฏว่าอีกบริษัทไปวิ่งเต้นหลังการประกวดราคา เมื่อเห็นว่าจะแพ้แน่ๆและเสนอให้ราคาต่ำลงไปอีก

“ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น ก็รีบรับลูกให้จัดเสนอราคาใหม่อีกครั้ง อ้างว่าอีกบริษัทสามารถเสนอราคาใหม่ที่ถูกลง จะประหยัดงบประมาณประเทศได้ 35 ล้านบาท ทำให้บริษัทที่ชนะในครั้งแรกไม่ยอมเสนอราคาเพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรม จัดประกวดราคาแล้วมากลับลำ เหมือนเฉลยข้อสอบไปแล้วกลับเรียกให้นักเรียนทั้งหมดมาสอบแข่งขันกันใหม่ ทำให้บริษัทนี้ได้ขายวัคซีนสมใจ”

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า ผลจากการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทยาในครั้งนั้น ได้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่เกิดขึ้นตามมา เพราะบริษัทนี้ไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศไทยได้ตามจำนวนที่ต้องการหลังจากฉีดวัคซีนไปได้เพียงเข็มเดียวทั้งที่ต้องการวัคซีน 2 เข็มต่อเด็กหญิง 1 คน ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ฉีดวัคซีนนี้ครึ่งๆกลางๆ ไม่รู้ว่าเด็กเหล่านี้จะได้รับผลป้องกันมะเร็งจริงหรือไม่ หนำซ้ำในปีนี้ก็ไม่มีวัคซีนจัดส่งให้อีก เดือดร้อนไปขอให้บริษัทที่เคยชนะประกวดราคาครั้งแรก และถูกรัฐบาลไทยหักหลังช่วยจัดหาวัคซีนให้ แต่ก็ถูกตอกกลับมาว่าไม่ได้เตรียมวัคซีนให้ประเทศไทยไว้ ไม่แน่ใจว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนมาให้ได้หรือไม่ จนถึงขณะนี้ยังหาคนมารับผิดชอบกับความผิดพลาดนี้ไม่ได้

“นี่เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ ไม่มีใครรู้ เพราะบริษัทที่ชนะประกวดราคาวัคซีนไวรัสโรต้าครั้งนี้ เป็นบริษัทเดียวที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนเอชพีวีได้ แต่ที่น่าสนใจ คือ เหตุผลที่คนในกรมควบคุมโรค ใช้อธิบายในครั้งนี้กลับแตกต่างกับครั้งที่แล้วโดยสิ้นเชิง ครั้งก่อนตอนจัดให้มีการเสนอราคาใหม่ระบุว่าต้องการประหยัดเงินประเทศ แต่กลับไม่ใช้เหตุผลในการจัดหาวัคซีนไวรัสโรต้าในครั้งนี้ เพราะจงใจกีดกันบริษัทวัคซีนอินเดียที่มีวัคซีนราคาถูกกว่าถึง 4 เท่าไม่ให้มาแข่งขัน ตอนทำสัญญาสั่งซื้อบรรษัทยายักษ์ใหญ่ลดราคาจาก 500 ลงเหลือ 400 บาทต่อเด็ก 1 คน”

นอกจากนี้ คนในกรมควบคุมโรคที่รับผิดชอบเรื่องวัคซีน ยังอ้างว่า ไม่มั่นใจประสิทธิผลของวัคซีนอินเดีย เพราะมีไวรัสเพียงสายพันธุ์เดียวในวัคซีน ไม่เหมือนวัคซีนอีก 2 บริษัทที่มีไวรัสหลายสายพันธุ์ แต่ตอนคัดเลือกวัคซีนเอชพีวีกลับตัดสินใจใช้วัคซีน 2 สายพันธ์เพราะเชื่อมั่นว่ามีประสิทธิผลไม่แตกต่างจากวัคซีน 4 สายพันธุ์ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า เห็นเรื่องแบบนี้ อดไม่ได้ที่จะต้องให้สังคมช่วยกันจับตา และคอยดูว่า คนที่พยายามผลักดันถึงขั้นล็อคสเปกวัคซีน จะละอายใจและหยุดล้างผลาญงบประมาณโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้มีเงินงบประมาณเพียงพอไปรักษาคนเจ็บป่วยคนอื่นๆหรือไม่ และขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้โครงการจัดซื้อวัคซีนไวรัสโรต้าเป็นแบบผลาญงบประเทศเช่นที่กำลังมีความพยายามทำกันอยู่ในขณะนี้