ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสภาเภสัชฯ แจงกรณียา LPV/r - Oseltamivir ต้านเชื้อไวรัสโคโรนา อยู่ระหว่างทดลองทางคลินิก-หาแนวทางควบคุมโรค เตือนประชาชนอย่าซื้อกินเอง เครือข่ายรณรงค์ด้านยาเผยผลพวงมาตรการ CL ปี 50 ทำไทยเข้าถึงยา 2 ชนิดราคาถูก นำมาประยุกต์ใช้ได้ทันท่วงที

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยในการแถลงข่าว LPV/r และ Oseltamivir ยารักษาโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่: กรณีศึกษาพัฒนาคุณภาพระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการเข้าถึงยา เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 ตอนหนึ่งว่า ตามที่มีรายงานค้นพบว่าการใช้ยาโลพินาเวียร์/ลิโทนาเวียร์ (LPV/r) และยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ช่วยรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นับเป็นความพยายามของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ผลลัพธ์ดีและน่าชื่นชม แต่สังคมยังจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษา หรือตัวยาที่ผ่านการวิจัยว่าใช้ในการรักษาโรคได้ ดังนั้นรายงานการใช้ยาดังกล่าวทั้งจากทีมแพทย์ประเทศจีน หรือแพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถีเอง เป็นความพยายามในการใช้ประสบการณ์ความรู้ในการรักษาเชื้อไวรัสลักษณะคล้ายคลึงกัน คือการใช้ยา LPV/r ที่ใช้รักษาเอชไอวี และ Oseltamivir ที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ การค้นพบนี้จึงไม่ใช่การวิจัยหรือพัฒนาตัวยาใหม่ แต่เป็นข้อค้นพบที่มีประโยชน์ในการเป็นแนวทางหนึ่งของการควบคุมโรค

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือความตื่นตระหนกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสังคมและประชาชน ที่อาจมีความพยายามหาซื้อยาทั้ง 3 ชนิดไว้ เนื่องจากคิดว่ารักษาโรคได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดและจะทำให้เกิดผลเสียหากใช้ไม่ถูกต้อง ทั้งยังจะก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาที่หลายฝ่ายกำลังพยายามรณรงค์ป้องกัน ดังนั้นแนวทางที่ถูกต้องหากสังเกตว่ามีอาการ คือให้รีบเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ใช่การหาซื้อยาใช้เอง

“การคิดค้นยาใหม่นั้นมีกระบวนการขั้นตอน และต้องใช้ระยะเวลาในการทดสอบ หากแต่กรณีโรคอุบัติใหม่นี้ เป็นกรณีฉุกเฉินที่ยังไม่มียาหรือแนวทางในการรักษามาก่อน ดังนั้นความพยายามต่าง ๆ ของบุคลากรทางการแพทย์ขณะนี้ เป็นการใช้ประสบการณ์ในการรักษาด้วยยาที่มีอยู่ ซึ่งยังเป็นการทดลองทางคลินิก และต้องรอสะสมปริมาณผู้ที่ได้รับการรักษาในจำนวนมากพอที่จะสรุปได้ว่าการค้นพบนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่สามารถรักษาได้จริง” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวว่า อีกหนึ่งความสำคัญที่แสดงให้เห็นในกรณีนี้คือเรื่องการเข้าถึงยา เพราะเมื่อเกิดโรคระบาดแล้ว ยาถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาป้องกัน ดังนั้นหากยาดังกล่าวติดปัญหาเรื่องของสิทธิบัตรหรือการผูกขาด ก็อาจส่งผลให้ยามีราคาแพงและคนเข้าไม่ถึงการรักษาได้ จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องทบทวนถึงความสมดุลของการคุ้มครองสิทธิผู้ค้นคว้าวิจัย ให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่การค้ากำไรเกินควรกับยา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ผู้ป่วยไม่สามารถต่อรองราคาได้

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในส่วนของยา LPV/r และ Oseltamivir พบว่าปัจจุบันมีคำขอสิทธิบัตรอยู่ในหลายประเทศ แต่ความโชคดีที่ทำให้ประเทศไทยมียาทั้ง 2 ชนิดมาใช้ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากผลของการประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อนำเข้าหรือผลิตยาโดยรัฐ (CL) ตั้งแต่ปี 2550 ทำให้ไทยมีการนำเข้าและสามารถผลิตยาทั้ง 2 ชนิดนี้ได้เอง ส่งผลให้ราคาของยาลดลงเป็นอย่างมาก และสามารถนำมาดูแลประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทั้งสามกองทุน

สำหรับราคาของยา LPV/r ก่อนการประกาศใช้มาตรการ CL มีราคาอยู่ที่ 74.23 บาทต่อเม็ด ปัจจุบันหลังองค์การเภสัชกรรมผลิตเองทำให้มีราคาเหลือเพียง 13.21 บาทต่อเม็ด หรือเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ขณะที่ยา Oseltamivir ในไทยมีราคาอยู่ที่เม็ดละ 25 บาท ถูกกว่าราคาที่องค์การ UNICEF จัดซื้อได้ในราคาเม็ดละ 44.46 บาท หรือถูกกว่าเกือบเท่าตัว

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร กล่าวว่า เรื่องของคุณภาพและมาตรฐานของการผลิตยาทั้ง 2 ชนิดในประเทศไทย องค์การเภสัชกรรมได้ใช้กระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองและเป็นที่ยอมรับของสากล หรือ WHO-Pre Qualification ทำให้ไทยมียาที่มีคุณภาพ ประสิทธิผล และปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลเชิงบวกของมาตรการ CL ที่ส่งผลให้เห็นชัดในการนำมารักษาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า แม้ตาม พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 จะประกาศให้ยาเป็นสินค้าควบคุมราคา แต่กลับไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมราคายา ทำให้ยาจากบริษัทต่างชาติที่ผูกขาดสิทธิบัตรสามารถคิดราคาได้ตามใจชอบ เช่นเดียวกับเรื่องของระบบการจดสิทธิบัตรยาที่ยังเป็นปัญหา โดยหนึ่งในแนวทางคือการจัดทำฐานข้อมูลเรื่องของอายุสิทธิบัตรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสืบค้น วิจัย และผลิตใช้ได้ภายหลังหมดอายุลง

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการจดสิทธิบัตรยาที่ไม่เป็นธรรมที่ผ่านมา พบว่ามีคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ควรได้รับการคุ้มครองเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาด โดยกฎหมาย พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับปัจจุบันนั้นมีช่องโหว่หลายส่วนที่ทำให้ไม่สามารถจัดการการผูกขาดได้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างของกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่กลับยังไม่มีการแก้ไขในส่วนเหล่านี้

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นช่วงรัฐประหาร โดยผ่านระบบออนไลน์ และให้เวลาเพียง 15 วันในการเสนอแนะข้อคิดเห็น ซึ่งหลายภาคส่วนร่วมกันทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยกันให้ข้อเสนอแนะและปรับปรุงเพื่อให้ดีขึ้น แต่น่าเสียดายที่ข้อเสนอและข้อกังวลเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำไปรวมกับร่างฉบับแก้ไข และขณะนี้กรมฯ ก็ได้ผ่านเรื่องไปถึงชั้นกฤษฎีกาในการให้ความเห็นแล้ว” นายเฉลิมศักดิ์ ระบุ

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า หนึ่งในข้อกังวลใหญ่คือมาตรการ CL ที่ตามกฎหมายเดิมนั้นมีความยากในการนำมาใช้อยู่แล้ว จึงควรพยายามแก้ไขให้ง่ายขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม กรมฯ กลับให้ผู้ขอสิทธิบัตรสามารถฟ้องร้องศาลให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว จึงจะเกิดความกังวลแก่ผู้ออกนโยบายที่จะนำมาตรการนี้มาใช้ได้ยากขึ้นอีก

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ยาหนึ่งตัวนั้นไม่ได้มีสิทธิบัตรเพียงใบเดียว แต่กลยุทธ์ของบริษัทยาขนาดใหญ่คือการพยายามยืดอายุให้ผูกขาดได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นระบบสิทธิบัตรที่ดีจะต้องไม่คุ้มครองเกินเลยกว่าที่ควร และการแก้ พ.ร.บ.สิทธิบัตร จะต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะปัจจุบันในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งรัดเจรจาข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่

“ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งรัดเจรจาข้อตกลงการค้าอย่างน้อย 2 ฉบับ ซึ่งในเนื้อหาจะมีผลกระทบกับการเข้าถึงยาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการใช้มาตรการ CL การขยายอายุสิทธิบัตร ดังนั้นกรณีไวรัสโคโรนาครั้งนี้ จะเป็นโอกาสดีให้รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าถึงยา และศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตยาในไทย” น.ส.กรรณิการ์ ระบุ