ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ซิกน่า บริษัทประกันชีวิตชื่อดังระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเรื่อง “CHRONIC STRESS: ARE WE REACHING HEALTH SYSTEM BURN OUT? หรือ “ความเครียดแบบเรื้อรัง: เรากำลังเข้าสู่ระบบสุขภาพที่มอดไหม้หรือไม่?” โดยศึกษาปรากฏการณ์ “ความเครียด” และผลที่เกิดจากความเครียดในระบบสุขภาพ ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ฮ่องกง สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเกาหลีใต้

ทั้งนี้ พบว่าโรคที่เกิดจากความเครียด กำลังเป็นปัญหาสำคัญของระบบสุขภาพในทุกประเทศ และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเหล่านี้ ล้วนอยู่ใน “ขาขึ้น” สำหรับความเครียดเรื้อรังไม่เพียงเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตเช่น “ความวิตกกังวล” “โรคแพนิค” และ “ภาวะซึมเศร้า” เท่านั้น แต่สามารถแสดงออกในอาการทางกายภาพ โดยส่งผลบ่อยที่สุดใน 4 อาการ ได้แก่

1.อาการเจ็บหน้าอก

2.ปัญหาการไหลเวียนโลหิต

3.ปัญหาระบบทางเดินอาหาร

4.ปัญหาระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal Pain)

และ 5.ปัญหาทางสุขภาพของผู้หญิง

รายงานของซิกน่า ได้สำรวจ 500 บทความวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เกิดจากความเครียด รวมถึงตรวจสอบมุมมองจาก “ผู้ป่วย” ใน 3 พื้นที่ ได้แก่

1.ผู้ป่วยที่กำลังมองหาการดูแล สำหรับความเจ็บป่วยทางจิตที่เกี่ยวข้องกับความเครียด

2.ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากความเครียด ด้วยอาการที่ “ไม่สามารถอธิบายทางการแพทย์ได้”

และ 3.สัดส่วนของผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากความเครียด ด้วยอาการทางร่างกายเช่น อาการลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือปวดหลังส่วนล่าง และมีปัญหาในโรคทางจิตเวชด้วย

โดยศึกษาว่าคนกลุ่มนี้ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเหล่านี้เท่าไหร่ และระบบสุขภาพในประเทศนั้นๆ เอื้อต่อการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือไม่

ผลการศึกษาของ Cigna ใน 9 ประเทศ พบว่า 25% ของผู้ป่วยที่แอดมิทในโรงพยาบาล 19% ของผู้ป่วยที่ผ่าน “ห้องฉุกเฉิน” 35% ที่เข้ารับการรักษาผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิ และ 12% ของผู้ป่วยนอก เป็นผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคจากความเครียด

นอกจากนี้ ยังพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกด้วยว่า “ระบบประกันฯ” ซึ่งผู้ทำประกัน จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย “ขั้นสุดท้าย” จากแพทย์ เพื่อนำบิลไปเบิกกับบริษัทประกัน มีความเป็นไปได้น้อย ที่จะถูกบันทึกว่า “ป่วยด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถระบุได้จากความเครียด” ซึ่งทำให้การตรวจวินิจฉัย การรักษา คลาดเคลื่อน และ “ดีเลย์” ออกไป

ขณะเดียวกัน ในประเทศที่มีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ดี มีระบบการดูแลผู้ป่วยนอกที่เข้มแข็ง ผู้ป่วยด้วยโรคจากความเครียด ที่ต้องแอดมิทในโรงพยาบาล จะมีตัวเลขค่อนข้างน้อย และมีตัวเลขที่ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบสุขภาพ และระบบประกันสุขภาพ มีผลอย่างมากในการรักษาโรคที่เกิดจากความเครียด

รายงานของซิกน่า ยังระบุอีกด้วยว่า ความเครียด ถือเป็นปัญหาหลักอย่างเห็นได้ชัดในเอเชีย โดย 91% ของกลุ่มคนที่สุ่มตัวอย่างพบ เคยเผชิญกับความเครียด และ 80% ระบุว่า พวกเขาต้อง “ทำงาน” ตลอดเวลา ตามวัฒนธรรมแบบเอเชีย

สำหรับไทย ถือเป็นประเทศที่ใช้เงินน้อยที่สุดในการจัดการโรคที่เกี่ยวกับความเครียด โดยใช้เงินเพียง 717 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็น 4% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด โดยผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียดส่วนใหญ่ ใช้ประกันสุขภาพของรัฐ และใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ

โดยคาดว่าไทยมีผู้ป่วยใน เข้ารับการรักษาด้วยโรคที่เกี่ยวกับความเครียดราวปีละ 1.5 ล้านครั้ง ผู้ป่วยฉุกเฉิน รับการรักษาในโรคดังกล่าว 8.68 แสนครั้ง ผู้ป่วยที่รับการรักษาจากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือแพทย์ GP ในโรคเหล่านี้ ประมาณ 26 ล้านครั้งและผู้ป่วยนอก จากโรคเหล่านี้ ประมาณ 10.7 ล้านครั้ง

นอกจากนี้ รายงานของซิกน่า ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่ “ประสบความสำเร็จ” ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 และสามารถถ่ายทอดการรักษาได้ดี ครอบคลุมผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยมีการ “ร่วมจ่าย” เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่งสิ่งที่น่าทึ่งก็คือ แม้จะผ่านไปหลายปี แต่รัฐบาลไทย ยังมีประสิทธิภาพในการคุมค่าใช้จ่ายในระบบให้ไม่สูงเกินไป รวมถึงยังสามารถให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเทศที่ “ใช้เงิน” มากที่สุดในการจัดการโรคที่เกี่ยวกับความเครียด ไม่ได้อยู่ในเอเชีย แต่เป็นประเทศอย่าง “ออสเตรเลีย” ประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ที่ใช้เงินมากกว่า 19% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด คิดเป็นเงินมากกว่า 2.29 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 แสนล้านบาท)

โดยรัฐบาลออสเตรเลีย เป็น “ผู้ซื้อ” ในระบบประกันสุขภาพ และยังเป็นเจ้าของโรงพยาบาลจำนวนมากในประเทศ โดยปัจจุบัน มากกว่า 60% ของคนไข้ ใช้ระบบบริการของรัฐ และจ่าย “Top Up” เพิ่มเติม หากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ครอบคลุมภายใต้ระบบ

ส่วนสาเหตุที่ค่าใช้จ่ายในระบบสูง คาดว่าเกิดจากการที่คนออสซี่นัดหมายแพทย์ GP หรือแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ซึ่งอยู่นอกเหนือระบบบริการของรัฐ และเป็นการให้บริการโดยเอกชน ให้ดูแลโรคที่เกี่ยวกับความเครียดค่อนข้างมาก คิดเป็นกว่า 37% ของนัดหมายหมอ GP ทั้งหมด

ขณะที่อันดับ 2 จากการสำรวจชิ้นนี้ อยู่ที่สิงคโปร์ ประเทศที่มีระบบสุขภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกัน โดยสิงคโปร์ใช้เงินมากกว่า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 แสนล้านบาท) ซึ่งคิดเป็น 18% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด เพื่อจัดการโรคที่เกิดจากความเครียด

ปัญหาใหญ่ของสิงคโปร์ก็คือ มีผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้เป็นจำนวนมาก คาดการณ์ว่าน่าจะสูงถึง 1.6 แสนครั้งต่อปี จากจำนวนประชากรที่มีแค่ 5.6 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงโรงพยาบาลที่ใช้รองรับผู้ป่วยเหล่านี้ กลับมีไม่เพียงพอ โดยพบว่าผู้ป่วยจำนวนมาก เข้ารับการรักษาด้วยการอาการค่อนข้างเรื้อรัง และต้องเข้ารับการแอดมิทในโรงพยาบาล ซึ่งทำให้อัตราครองเตียงจากผู้ป่วยโรคเหล่านี้ สูงเกินความจำเป็น

ทั้งนี้ รายงานของซิกน่า แนะนำให้สิงคโปร์เพิ่มทักษะเจ้าหน้าที่ ในการคัดกรองผู้ป่วยด้วยโรคจากความเครียดให้มากขึ้น เพื่อป้องกันอาการ “เรื้อรัง” ของโรค

รายงานของซิกน่า ยังแนะนำให้รัฐบาลทั่วโลก รณรงค์ให้ประชาชนตื่นรู้ จนสามารถ “ตรวจคัดกรอง” โรคที่เกิดจากความเครียดได้เอง และสร้างระบบให้นักจิตวิทยา สามารถเข้าถึงผู้ที่มีโอกาสป่วยจากโรคเครียดได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้โรงพยาบาลขนาดกลาง มีนักจิตวิทยาประจำโรงพยาบาล และสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยจากโรคเครียด ที่ดีขึ้น เพื่อให้แพทย์สามารถเรียกดูประวัติผู้ป่วย และการรักษาได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ประกันสุขภาพ ทั้งของรัฐ และของเอกชน ขยายไปครอบคลุมการรักษาโรคเครียด ลดขั้นตอนการเบิกจ่ายให้น้อยลง รวมถึงให้การ “ตรวจคัดกรอง” โรคที่เกิดจากโรคเครียด อยู่ในสิทธิประโยชน์ รวมถึงทำงานกับโรงพยาบาล - สถานพยาบาล ให้ใกล้ชิดมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ หากทำสำเร็จ จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคนี้ และลดค่าใช้จ่าย ที่ใช้กันอย่างสิ้นเปลือง ในการรักษาโรคเหล่านี้ได้เช่นกัน

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ CHRONIC STRESS: ARE WE REACHING HEALTH SYSTEM BURN OUT?

เรื่องที่เกี่ยวข้อง