ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอหัวใจแนะทลายข้อจำกัดราคายาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยเข้าถึงยานวัตกรรมใหม่ๆ

นพ.วศิน พุทธารี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยในงานเสวนา “หัวใจสุขภาพดี สูงวัยอย่างแข็งแรง” (Healthy Hearts, Healthy Aging) ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้สถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสุดท้ายแล้วหากแพทย์ทำการรักษาผู้ป่วยต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่คำนึงถึงการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยป่วยหนัก ที่สุดแล้วประเทศไทยก็จะมีผู้ทุพพลภาพจำนวนมาก

นพ.วศิน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีฐานข้อมูลที่ระบุถึงแนวทางการรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรและได้ผลอย่างไร แต่ในทางกลับกันเรามีข้อมูลว่าแต่ละปีเสียค่ายา-ค่ารักษาพยาบาลเท่าใด และต้องจำกัดค่ารักษาพยาบาลให้อยู่ที่เท่าใด ซึ่งตรงนี้ก่อให้เกิดอุปสรรคแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

“เมื่อเวลาผ่านไปการรักษามีแต่จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เราค่อย ๆ ค้นพบการรักษาใหม่ ๆ เรามียาและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถทำให้คนไข้มีอายุยืนยาวมากขึ้น ฉะนั้นตัวเลขการเสียชีวิตของทั่วโลกจึงลดลง แต่สำหรับประเทศไทยเรากลับไม่เคยมีข้อมูลเลยว่าพอจำกัดงบประมาณ-จำกัดยาแล้วผลการรักษาเป็นอย่างไร ดีขึ้น เท่าเดิม หรือแย่ลง หรือในกลุ่มผู้ใช้สิทธิบัตรทองกับข้าราชการ ผลการรักษามีความแตกต่างกันหรือไม่” นพ.วศิน กล่าว

นพ.วศิน กล่าวต่อไปว่า ยาหรือนวัตกรรมใหม่คงไม่สามารถเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติได้เนื่องจากมีราคาแพง แต่ก็ควรหาช่องทางหรือกลไกเพื่อช่วยให้คนไข้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับยาสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ ส่วนตัวคิดว่าแนวทางการร่วมจ่ายส่วนต่างค่ายาอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดขึ้น

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ อาจารย์แพทย์ ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในเชิงป้องกัน ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม การใช้ยากลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค (NOAC) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีโรคอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากสถิติผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วกว่า 3,000 ราย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงยาดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องมีการนำเสนอข้อมูลในเรื่องต้นทุนที่มีประสิทธิภาพในการรักษานี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ด้วย

พญ.ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและความตั้งใจที่จะเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ จะส่งเสริมให้เกิดระบบในการดูแลรักษาเชิงป้องกันให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว โดยบริษัทไบเออร์ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมการดูแลให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยั่งยืน

อนึ่ง ในงานเสวนาครั้งนี้ ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย ตามรายงาน Healthy Hearts, Healthy Aging ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดทำโดยไบเออร์ และ NUS Enterprise หน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จำนวน 5 แนวทาง ได้แก่

1. ส่งเสริมการวิจัยเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

2. การทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยานวัตกรรมเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น

3.การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้

4.การให้ความรู้กับผู้ป่วยถึงความสำคัญในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

และ 5.ความร่วมมือภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยพัฒนาการเข้าถึงนวัตกรรม

ทั้งนี้ ตามข้อมูลในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข พบว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke และโรคหลอดเลือดหัวใจ ถือเป็น ‘โรคไม่ติดต่อ’ (NCDs) ที่นำไปสู่การเสียชีวิตสูงสุด 5 อันดับแรก และผู้ป่วยอีกจำนวนมากต้องทุพพลภาพ

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในประเทศไทย ระบุว่า ปี 2560 มีคนไทยเป็นโรคหัวใจวายกว่า 84,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปี 2556 และจำนวนผู้ป่วยในรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอีกกว่า 26,000 คน