ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส.เพิ่มศักยภาพนักวิจัยหน้าใหม่ปี 63 เน้นหลักสำคัญสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนวิจัยสู่ระบบสุขภาพ

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดอบรมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยหน้าใหม่ สวรส. ประจำปีงบประมาณ 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพนักวิจัยระบบสุขภาพ อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการงานวิจัย ภายใต้กรอบการวิจัย ปี 2563 เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการอบรมครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวรส. จำนวน 53 โครงการ จำนวน 100 คน จากหลากหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งนี้การอบรมจัดให้มีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า “ปัจจุบันแนวโน้มของการสนับสนุนและบริหารจัดการทุนวิจัยของแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานวิจัยในระบบสุขภาพ เน้นงานวิจัยแบบมุ่งเป้าที่มีกรอบและเป้าหมายของการสนับสนุนทุนที่ชัดเจน โดยมีการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความซ้ำซ้อน รวมไปถึงการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการสนับสนุนและการบริหารจัดการงานวิจัยที่รวดเร็ว ทันเวลา และมีคุณภาพ เพื่อให้นักวิจัยสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาและพัฒนางานในมิติต่างๆ ปัจจุบัน สวรส.มีการสนับสนุนงานวิจัยเชิงคลินิกมากขึ้น เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่นำมารักษาโรคได้จริง ตอบสนองการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประเทศ รวมถึงการพัฒนาไปเป็นข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีความคุ้มค่า และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง ซึ่งในมิติของนักวิจัยหน้าใหม่ไม่จำเป็นต้องรอบรู้ทุกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือการตั้งคำถามวิจัยที่ชัดเจน สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ แล้วต่อจากนั้นจึงเป็นเรื่องของการรวบรวมข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ วิเคราะห์ และสรุปเป็นข้อเสนอในเชิงปฏิบัติได้”

นอกจากนี้ ผู้จัดการงานวิจัยภายใต้แผนพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ตลอดจนผู้จัดการงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของ สวรส. ได้แก่ ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ, ทพ.จเร วิชาไทย, ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ และ ภญ.ดร.นพคุณ ธรรมธัชอารี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการงานวิจัย การติดตามประเมินผลและการควบคุมคุณภาพโครงการ รวมไปถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดีและมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์ถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องที่ศึกษาวิจัยได้ทั้งหมด เช่น พฤติกรรมและแรงจูงใจของกลุ่มเป้าหมาย สังคม การเมือง การตลาด แรงต้านจากวิชาชีพต่างๆ ฯลฯ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัย เพื่อช่วยกันสร้างและพัฒนางานวิจัยที่สามารถส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสุขภาพให้มากที่สุด รวมถึงสามารถนำไปใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ในระบบสุขภาพได้ นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติจาก นพ.วิชัย โชควิวัฒน
ให้ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เพื่อให้งานวิจัยมีความปลอดภัยและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่บนหลักของการได้รับประโยชน์และความยุติธรรมกับกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญของการวิจัย ทั้งนี้นักวิจัยที่ได้มาร่วมอบรมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และซักถามข้อมูลต่างๆ อย่างกว้างขวาง