ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พบเยาวชนใช้ถุงยางอนามัยเพิ่ม แต่ความสม่ำเสมอต่ำ เหตุไว้ใจคู่รัก เตือน! มีเซ็กส์ไม่ป้องกัน เสี่ยงสารพัดโรค ด้านมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ วอนสังคมหยุดตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ พร้อมหนุนองค์การเภสัชกรรม ผลิตถุงยางอนามัยขายในราคาทุกคนเข้าถึงได้ ตัดปัญหาคนเข้าไม่ถึงสิทธิ

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถิติกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2558-2560 พบ อัตราการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นระดับ ปวช.ปี 2 ทั้งชายและหญิง มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย จากเกือบร้อยละ 50 มาอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 42 ส่วนนักเรียนชายและหญิงชั้น ม. 5 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง โดยอัตราการมีเพศสัมพันธ์ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 25.9 และ 17.7 ตามลำดับ ทั้งนี้อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 นักเรียน ม.5 ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกร้อยละ 75 ในเพศชาย และร้อยละ 77 ในเพศหญิง ส่วนในนักเรียนอาชีวศึกษาชั้น ปวช.ปี 2 มีการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกร้อยละ 69.5 ในเพศชาย และร้อยละ 74.6 ในเพศหญิง

“แม้อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การใช้อย่างสม่ำเสมอยังคงต่ำอยู่ ซึ่งเกิดจากความไว้วางใจในคู่รักที่คบกันมาระยะนึงเลยหยุดใช้ถุงยางอนามัย ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายโรค เช่น เอดส์ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม หูดหงอนไก่ เริมที่อวัยวะเพศ แผลริมอ่อน และอื่น ๆ” นายชาติวุฒิ กล่าว

ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า กองเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ประมาณการณ์ว่าคนไทยมีความต้องการใช้ถุงยางอนามัยอยู่ที่ประมาณ 230 ล้านชิ้นต่อปี โดยมียอดคนซื้อใช้งานเองประมาณ 75 ล้านชิ้น ขณะที่หน่วยงานของรัฐและโครงการต่าง ๆ มีงบประมาณจัดหาถุงยางอนามัยแจกจ่ายให้ประชาชนได้เพียงประมาณ 40 ล้านชิ้นต่อปี เท่ากับว่ายังขาดถุงยางอนามัยอีกกว่า 100 ล้านชิ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 ตนมองว่าปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่นการใช้ศักยภาพขององค์การเภสัชกรรมผลิตถุงยางอนามัย และจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปในราคาชิ้นละ 2 บาท เนื่องจากยางพารามีราคาไม่แพง พร้อมกับเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนภาพลักษณ์ถุงยางอนามัยให้เป็นเชิงสร้างสรรค์ เป็นเรื่องสุขภาวะทางเพศที่ปลอดภัย มากกว่าการเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ส่วนอีกประเด็นที่ควรดำเนินการไปพร้อมกันคือการขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ยุติเอดส์ประเทศไทย

“การมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล จะเป็นหลักประกันว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอยู่ประมาณ 450,000 คน จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ถูกกีดกันโอกาสในทุกด้าน โดยเฉพาะการทำงาน การศึกษา การเข้าถึงบริการต่าง ๆ วันเอดส์โลกปีนี้ ประเด็นรณรงค์คือ รวมพลังชุมชนยุติเอดส์ Community make the difference สิ่งที่ชุมชนต้องการนอกจากการมีอุปกรณ์ป้องกันเอดส์ที่เพียงพอคือถุงยางอนามัยแล้ว เรายังต้องการกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลมากที่สุด” นางสาวสุภัทรา กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง