ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. – สวรส. และเครือข่ายร่วมประกาศสงครามเบาหวาน–ความดัน ตั้งเป้าลดหวานเค็ม 30%

“อัมพฤกษ์ อัมพาต” เป็นภัยเงียบที่ทำให้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ โดยอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต จะเกิดที่กล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยที่ทำให้ระบบสั่งการของสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเกิดความผิดปกติ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจาก “โรคหลอดเลือดสมอง” ซึ่งเป็นภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน สาเหตุจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน

ข้อมูลจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 ในประชากรไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป โดยสถาบันวิจัยระบบสาธาณสุข (สวรส.) พบว่า ความชุกของเบาหวานในคนไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 และความชุกของโรคความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.4 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 24.7 ในปี 2557 โดยข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าเบาหวานและความดันโลหิตสูง ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตเรื้อรังตามมาได้อีกด้วย โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์พบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีประมาณ 1 แสนคนเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการบำบัดรักษากว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี หากไม่มีการแก้ไขป้องกันคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็นกว่า 2 แสนราย หรือต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท

จากข้อมูลสถานการณ์โรคเบาหวานและความดันโลหิตของประเทศไทยนับว่ามีความน่าเป็นห่วง เพราะทั้งเบาหวานและความดันโลหิต เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตและโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา หากยังไม่มีมาตรการป้องกัน ควบคุม จะทำให้ประเทศต้องแบกรับกับจำนวนผู้ป่วยและค่าใช่จ่ายทางด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเตือนของประเทศไทย ที่ควรถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องประกาศสงครามเบาหวานและความดันโลหิตสูงอย่างเร่งด่วน

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมประกาศสงครามกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เพื่อเร่งรัดให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับชาติที่เน้นการจัดการเบาหวานและความดันโลหิตสูง และสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานรัฐ ธุรกิจเอกชน ภาคท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย โดยกลยุทธ์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ในเบื้องต้น เช่น การประกาศสงครามกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงสู่สาธารณะ การเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับ ออกระเบียบส่งเสริมหรือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทำการประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคม ลดความเสี่ยงการเกิดโรค อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาช่วยในการติดสลากเตือนสินค้าที่มีรสหวานมันเค็ม กระทรวงพาณิชย์พิจารณาการลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ลดโซเดียมในสินค้าบริโภค การหนุนให้ อสม. ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลประชาชนในชุมชน ทั้งการคัดกรอง แนะนำการเช็คค่าน้ำตาล ค่าความดันโลหิต ตลอดจนแนวทางควบคุมไม่ให้ค่าน้ำตาลและความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นต้น

ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวต่อไปว่า บทบาทของ สวรส. คือการร่วมวางแผน ศึกษาวิจัยการดำเนินนโยบาย ตลอดจนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายประกาศสงครามเบาหวานและความดัน เพื่อนำมาพัฒนาประสิทธิภาพและตอบโจทย์ปัญหาระบบสาธารณสุขและสังคม ทั้งการติดตามประเมินผล เช่น การประกาศสงครามโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงไปแล้ว ภายใน 1 ปี ต้องประเมินได้ว่ากลุ่มป่วยลดลงได้จริงหรือไม่ หรือกลุ่มเสี่ยงก็ไม่ป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ซึ่งจะเป็นการติดตามจากตัวชี้วัดที่กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการรณรงค์ให้ประชาชนรู้ตัวเลข รู้รักษ์สุขภาพ หรือ “Know your number Know your risk” คือ สามารถรู้ตัวเลขที่บ่งชี้สุขภาพและทราบระดับความเสี่ยงของตนเองเพื่อการควบคุมภาวะเสี่ยงเบาหวาน/ความดัน ได้แก่ น้ำหนัก ความดันโลหิต รอบเอว และระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งการติดตามตัวชี้วัดเรื่องการลดเค็ม ลดหวานลง 30% ภายใน 5 ปี

“นอกจากนี้ สวรส. จะพัฒนาหลักสูตรพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาพ หรือ Chief Health Officer เพื่อให้ผู้บริหารของหน่วยงานทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหา เพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดการเบาหวานและความดัน ตัวอย่างเช่น เมื่อรู้ว่าบุคลากรในองค์กรเป็นกลุ่มเสี่ยง มีภาวะอ้วนลงพุง สูบบุหรี่ ก็จะต้องหามาตรการในการลดพุง ลดการบริโภคหวานมันเค็ม หรือมีเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตในองค์กร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าความดันตัวเองอยู่ในภาวะใดและจะมีวิธีในการจัดการตนเองอย่างไร เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรการคัดกรองเบาหวาน/ความดัน การเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยเฉพาะการลดการบริโภคน้ำตาลและเกลือโซเดียม สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นคู่มือการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว