ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัย ชี้แนวโน้มสังคมเผชิญภาวะข้อมูลข่าวสารท่วมท้น แต่ข้อมูลวิชาการ ระบุ ปชช. 80% ใช้อารมณ์ ความคุ้นชิน มากกว่าความรู้ในการตัดสินใจ สวรส. เปิดรับข้อเสนอวิจัย “Health Literacy for NCDs” ภายใต้ภารกิจเร่งด่วนระยะ 1 ปี เพื่อลดช่องว่างปัญหาสุขภาพ คาดหวัง ปชช. ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นเครื่องมือลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ นักวิจัยเครือข่าย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบรรยายเรื่อง “สถานการณ์งานวิจัยความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy (HL)” ในงานประชุมวิชาการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย จัดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ ว่า จากการทบทวนสถานการณ์และกลไกการจัดการความแตกฉานด้านสุขภาพ โดยการสนับสนุนของ สวรส. สรุปความหมายของความรอบรู้ด้านสุขภาพว่า คือความสามารถในการเข้าถึง ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทั้งนี้ ในการวิจัยพบสังคมไทยและโลกกำลังเผชิญกับภาวะข้อมูลข่าวสารท่วมท้น จากระบบการสื่อสารสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะสื่อโซเชียล ทำให้ผู้รับสารมีอำนาจในการแชร์ข้อมูล ซึ่งอาจมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับข้อมูลตั้งต้น ส่งผลให้ประชาชนไม่รู้ว่าควรเชื่อสื่อใดหรือไม่เชื่อสื่อใด และการทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยในต่างประเทศด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม รายงานว่าในแต่ละวัน คนเราจะใช้การคิดตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เฉลี่ย 2,500-10,000 ครั้งต่อวัน ที่น่าห่วงคือ มีเพียงร้อยละ 20 ที่ใช้เหตุผลและความรู้ประกอบการตัดสินใจ ส่วนร้อยละ 80 มีการใช้อารมณ์และความคุ้นชินในการตัดสินใจ โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้องจากอิทธิพลของโฆษณา การเชื่อตามวัฒนธรรม บริบทแวดล้อม เป็นต้น

“การขับเคลื่อนงานด้านความรอบรู้ด้านสุขภาพ เสมือนเป็นการค้นหาวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย และถูกหลอกจากข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่เป็นเท็จ อย่างไรก็ตาม งานด้านความรอบรู้ทางด้านสุขภาพยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้มาก เนื่องจากยังจำกัดอยู่ในวงวิชาชีพทางด้านสุขภาพ การศึกษา และจิตวิทยา ขณะที่ศาสตร์อื่นๆ ยังไม่ได้มาร่วมทำงานด้านนี้มากนัก ดังนั้นการวิจัยเรื่องความรอบรู้ทางด้านสุขภาพในอนาคตจึงมีความสำคัญ” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว

ทางด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ เป็น 1 ในประเด็นเร่งด่วนของ สวรส. ระยะ 1 ปี ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาระบบสุขภาพไทย โดยเฉพาะเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหา รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง โดยทิศทางวิจัยปี 2562 สวรส. ได้เปิดกรอบวิจัยในประเด็นความรอบรู้ทางด้านสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Health Literacy for NCDs) มีเป้าหมายในการสร้างและจัดการความรู้ ตลอดจนการเชื่อมโยงความรู้สู่การตัดสินใจเชิงนโยบาย ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ ได้เปิดกว้างให้กับทุกกลุ่มวิชาชีพ เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ฯลฯ ทั้งที่เป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคม มาร่วมเสนอโครงการวิจัยเพื่อคิดเครื่องมือที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ สวรส. ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคมถึง 30 พฤศจิกายน 2561 นี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการวิจัยได้ทางอีเมล์ hsri@hsri.or.th สำหรับตัวอย่างแนวประเด็นวิจัย เช่น รูปแบบการพัฒนา Health Literacy สำหรับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อโรค NCDs, กระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อจัดการควบคุม ดูแล ติดตาม กำกับ ปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่มีผลต่อการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, การวิเคราะห์สถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตเรื้อรัง, ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการจัดการปัจจัยแวดล้อมทางสังคม และตัวเลือกที่มีในระบบบริการสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของมาตรการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อ NCDs เป็นต้น