ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การจับคู่ประเทศโดยดูตัวเลขระบาดมาใช้แลกเปลี่ยนพลเมืองท่องเที่ยว ไปมาหาสู่กันนั้น ในระยะยาวแล้วอาจเกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง

1. โอกาสเกิดการปนเปของสายพันธุ์ไวรัส

ไวรัสโรค COVID-19 นั้นมีหลายสายพันธุ์ ทั้ง A, B, C เท่าที่ติดตามกันมา สายพันธุ์ A พบมากในอเมริกาและออสเตรเลีย สายพันธุ์ B พบมากในเอเชียตะวันออก และสายพันธุ์ C พบมากในยุโรป

เดิมไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงระหว่างชนิดสายพันธุ์กับความรุนแรงของโรค แต่ในระยะหลังเริ่มมีการศึกษามาขึ้นโดยใช้ Genome Wide Association Study และเริ่มสังเกตเห็นความสัมพันธ์เรื่องนี้แล้ว

การจับคู่ไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์การระบาด และส่งผลต่อความรุนแรงของโรคได้

2. ปรากฏการณ์น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ

กลุ่มประเทศยุโรปมีการร่างข้อกำหนด ตกลงกันระหว่างประเทศให้ไปมาหาสู่กันได้ หากมีอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยไม่เกินที่กำหนด เช่น 16 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คนในรอบ 2 สัปดาห์

หากดูคร่าวๆ เหมือนจะน้อย แต่ลองคิดละเอียด จะพบว่า ถ้าประชากรไทย  ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร พอๆ กัน ราว 67 ล้านคน แปลว่า เกณฑ์กำหนดให้สามารถติดเชื้อได้วันละ 765 คน ก็สามารถเดินทางได้

แม้อัตราการระบาดจริงของแต่ละประเทศ หลายประเทศอาจไม่ถึงระดับดังกล่าว แต่ล้วนแตกต่างจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ตอนนี้ไทยไม่มีเคสเลย แต่ของเค้ามีเคสอยู่ตั้งแต่ระดับหลักสิบไปถึงหลักพัน

ถ้ามีการทำสนธิสัญญาระหว่างกัน แม้จะใช้วิธีมาตรฐานในการคัดกรองโรค แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีการคัดกรองโรคชนิดใดที่แม่นยำ 100% 

ประเทศที่รับคนไทยไปเที่ยวย่อมได้เปรียบในแง่ความปลอดภัย เพราะไทยไม่มีเคส

ขณะที่ไทย รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ย่อมแบกรับความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดเคสหลุดรอดการคัดกรอง เช่น เกิดผลลบปลอม (ติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบ)

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงไม่ต้องเถึยงกันต่อไปว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นการรนหาที่โดยแท้

3. เปลี่ยนภูมิศาสตร์การระบาดของไทย จาก "ปลอดโรค" ไปเป็น "ดงโรค" ในระยะยาว

การแลกเปลี่ยนคนระหว่างกันภายใต้ข้อตกลงเรื่องสถานะการระบาดพอๆ กันนั้น หากทุกคู่ประเทศตกลงกันเช่นนั้น เป็นการยอมรับกลายๆ ว่า พอใจกับสถานะการระบาดเช่นนั้น หากไม่มีอะไรพลิกผัน ไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้าออก ก็หวังว่าจะมีอัตราการติดเชื้อแบบนั้นไปเรื่อยๆ

แต่หากคู่สัญญา เริ่มต้นด้วยสถานะการระบาดที่ไม่เหมือนกัน เช่น ไทยไม่มีเคส แต่ประเทศอื่นมีเคส นั่นแปลว่า ไม่ช้าก็เร็ว อาจเกิดเคสหลุดเข้ามาจนทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ที่ไม่มีเคสได้ และหากเกิดบ่อยซ้ำซาก คุมกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ ก็ย่อมแปรเปลี่ยนจาก"พื้นที่ปลอดโรค"ไปเป็น"ดงโรค"ในระยะยาว

เพราะขณะนี้แม้ทุกประเทศทั่วโลกจะตั้งความหวังไว้กับการคิดค้นยาและวัคซีน แต่ล้วนยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ไม่สามารถการันตีได้เลยว่า จะได้มาจริงหรือไม่ เร็วช้าเพียงใด และจะมีประสิทธิผลต่อไวรัสทุกสายพันธุ์จริงหรือเปล่า

ที่กล่าวมานั้นคือข้อสังเกต ที่ผู้นำประเทศ หน่วยงานความมั่นคง และทุกคนในประเทศไทยควรช่วยกันนำไปขบคิด ไตร่ตรอง อย่างรอบคอบ

การตัดสินใจพลาดเพียงครั้งเดียว...อาจเปลี่ยนอนาคตของประเทศ

เราสู้กันมาตั้งแต่มีนาคม เรากดโรคระบาดลงมาได้ และยังไม่เพลี่ยงพล้ำต่อมัน เพราะวิธีการดำเนินการของประเทศไทยนั้นมีอัตลักษณ์ของตนเอง ภายใต้การอดทน อดออม อดกลั้น และพอเพียง

ครั้งนี้จะใช้กิเลสนำนโยบาย เพื่อหาเงินเข้าประเทศผ่านการท่องเที่ยวและนำเข้าผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในประเทศ...แลกกับความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนหรือไม่?

พรุ่งนี้ก็คงต้องวัดใจกัน...

เอาใจช่วยทุกคนครับ...

ประเทศไทยต้องทำได้...

 

#ใส่หน้ากากเสมอล้างมือบ่อยๆอยู่ห่างจากคนอื่น1เมตร

#พูดน้อยลงพบปะคนน้อยลงสั้นลง

#เลี่ยงที่อโคจรและหมั่นสังเกตอาการตนเองและครอบครัว