ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน ชาญวีรกูล” ประชุมร่วม “ชมรม รพศ.รพท.-ชมรม นพ.สสจ.-ชมรม รพช.” ทั่วปท. มอบนโยบายโควิด19 ยังไม่สรุปยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดินหน้าทราเวลบับเบิ้ล มอบรองปลัด-คร.จัดทำลักษณะ MOU

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดประชุมมอบนโยบายการจัดการสถานการณ์โควิด-19 แก่ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ.รพท.) ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศ และชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย (รพช.) ว่า วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ทำได้ขนาดนี้เป็นเพราะบุคคลากรสาธารณสุขทำงานอย่างเข้มข้น การ์ดอย่าตก วันนี้เราไม่มีผู้ป่วยติดต่อในประเทศเป็นเวลา 23 วันแล้ว รออีก 1 สัปดาห์ ก็จะครบ 28 วันระยะปลอดภัย ฉะนั้นขออย่าเดียวไข่อย่าแตก ดังนั้นบุคคลกรสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อพร้อมเผชิญเหตุหากเกิดมีผู้ป่วยเข้ามา ก็ต้องรุกเข้าไปแก้ปัญหาอธิบายประชาชนให้ทราบและเข้าใจ

นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า การประชุมวันนี้ได้เน้นย้ำ และติดตามเรื่องการใช้งบประมาณทั้งงบฯ ปกติ และงบโควิด-19 เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เพราะมารับฟังจาก รมว.สธ. โดยตรง ซึ่งย้ำว่าการใช้งบฯ ต้องเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ทุกบาท ทุกสตางค์ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการประชาชน ส่วนเรื่องงบฯ บางอย่างที่ถูกตัดก็ได้ให้ สสจ.จัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อให้ถูกตัดงบฯ ออกไปน้อยที่สุด ส่วนตัวเลขที่ถูกตัดนั้นยังไม่ทราบ แต่ดูโครงการก็มีเยอะ พยายามคุยกับสำนักงบประมาณอยู่ บางอย่างเอากลับเข้ามาได้ แต่บางอย่างก็ต้องไปแปรญัตติ

สำหรับการจับคู่ประเทศ (Travel Bubble) ตอนนี้มอบกรมควบคุมโรค และนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องนี้ ตอนนี้ต้องจัดคิวพบเอกอัครราชทูตหลายประเทศที่ประสานเข้ามา มีหลายประเทศสิ่งร่างกรอบการควบคุมป้องกันโรค และการคัดกรองคนเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงการคัดกรองเข้าประเทศของเขา จึงต้องมาดูว่าสอดคล้องกับมาตรการในประเทศไทยหรือไม่ โดยอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยในการควบคุมโรค และเศรษฐกิจ เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องจะมีการหาหรือและเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในวันศุกร์ที่ 26 มิ.ย.นี้

“คงเป็นลักษณะการทำเอ็มโอยู หากประเทศที่จับคู่แล้วเกิดการระบาดขึ้นมาอีก และควบคุมไม่ได้ ก็สามารถยกเลิกได้ ทุกอย่างจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป ไม่อยากให้กังวล เราต้องกล้าที่จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้มีการเดินทางไปมาหาสู่ ประกอบธุรกิจกัน อาจจะเริ่มจากผู้ประกอบธุรกิจ เทคนิเชียล บรรดาครู คนทำงานที่มีใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น อาจจะยังไม่ถึงขั้นนักท่องเที่ยวเพราะเชื่อว่าต่อให้เปิดประเทศตอนนี้ทั้งเราและเขาคงยังไม่มีใครจะมาท่องเที่ยว แต่มั่นใจว่าถ้าเราการ์ดไม่ตกประเทศไทยจะเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีแนวโน้มในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอาจจะมีการใช้เพียงพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ถือว่าเพียงพอหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการคุยกันถึงจุดนี้ว่าจะใช้แนวทางไหน ตอนนี้พูดถึงแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีอยู่ แต่คงใช้ในเรื่องการเผื่อเอาไว้หากมีความจำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน เกิดมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นมา แต่คิดว่าวันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับชีวิตคน เพราะเคอร์ฟิวก็ไม่มีแล้ว คนที่ทำงานหนักก็ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์เช่นเดิม เพราะกิจกรรม กิจการต่างๆ กลับมาเปิดปกติ รวมถึงผับ บาร์ การจำหน่ายสุราได้บ้าง จึงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่เหมือนกัน หากพี่น้องประชาชนเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ ตนขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนเมตตา ใช้ชีวิตวิถีใหม่มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีก เพราะวันนี้เรายังไม่รู้ว่ายังมีคนติดเชื้อไม่มีอาการหลงเหลืออยู่หรือไม่

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการหารือที่ทางศูนย์บริการสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดเล็กที่จะหารือกันบ่ายวันนี้ เบื้องต้นกรอบที่ 2 ประเทศจะต้องมีตรงกันจึง 1 จำนวนอัตราการป่วยโควิด -19 จะต้องลดลง ดูให้แน่ชัดว่าการป่วยที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ มาจากการแพร่ระบาดในประเทศ หรือ เป็นกรณีผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ 2 ศักยภาพและความสามารถด้านการรักษาพยาบาล เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง