ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.แจงเคสผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูก CPR เจ้าหน้าที่ทำถูกต้องแล้ว ย้ำการช่วยชีวิตต้องทำก่อนถึง รพ. เพราะช่วงฉุกเฉินคือระหว่างไปถึง รพ. ส่วนการปั๊มหัวใจต้องทำจนสัญญาณชีพผู้ป่วยกลับมา ไม่เคลื่อนย้าย ขัดจังหวะการปั๊มหัวใจให้น้อยที่สุด ระหว่างรอรถกู้ชีพขั้นสูงเข้าไปถึง

วันที่ 16 ธ.ค. 2562 ว่าที่ ร.ต.การันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงเคสกู้ชีพทำการช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการทำ CPR ผู้ป่วยที่นอนไม่ได้สติ แต่มีผู้ชายสูงอายุ เข้ามาต่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่รีบพาไปโรงพยาบาล แม้จะมีการอธิบายเหตุว่าเป็นขั้นตอนการช่วยชีวิตแต่ก็ไม่ฟัง ซึ่งมีรายงานว่า ชายสูงวัยมีอาการคล้ายมึนเมา ว่า สำหรับเคสที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต้องบอกว่า กู้ชีพที่ช่วยชีวิตถือว่าทำถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว เนื่องจากโดยหลักการเมื่อสายด่วน 1669 ได้รับแจ้งเหตุว่า มีผู้ป่วยหัวใจวาย ซึ่งเคสนี้เรียกว่า เป็นเคสผู้ป่วยวิกฤตสีแดง ต้องรีบช่วยเหลือให้รอดชีวิต และต้องใช้รถกู้ชีพขั้นสูง ซึ่งจะมีวิชาชีพและมีเครื่องมือช่วยชีวิตพร้อม แต่ระหว่างรอรถกู้ชีพขั้นสูงเข้าไปถึง ก็จะให้คำแนะนำ รวมทั้งจะส่งรถกู้ชีพขั้นพื้นฐาน เช่น รถจากมูลนิธิ กู้ชีพกู้ภัยต่าง ๆ ที่ผ่านการอบรมในการช่วยชีวิตคนเบื้องต้นไปสนับสนุนที่เกิดเหตุก่อน

“การช่วยชีวิตนั้น สิ่งสำคัญต้องมีการกดหรือปั๊มหัวใจเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะ เลี้ยงสมอง และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องขัดจังหวะการปั๊มหัวใจให้น้อยที่สุด คือ จะไม่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างปั๊มหัวใจ เพราะหากยกขึ้นเปล อาจทำให้ต้องหยุดปั๊มหัวใจ และจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้ ดังนั้น จะต้องทำ CPR จนกระทั่งชีพจรหรือสัญญาณชีพของผู้ป่วยกลับมา จึงจะเคลื่อนย้าย โดยระหว่างนั้นหากรถกู้ชีพขั้นสูงมาถึง ก็จะทำการช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจต่อ และให้ยากระตุ้นหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ และช็อตหัวใจ โดยทั้งหมดสามารถทำที่บ้านได้ ยกเว้นว่าบ้านไม่มีพื้นที่เอื้ออำนวยจริง ๆ” ว่าที่ ร.ต.การันต์ กล่าว

ผู้ช่วยโฆษก สพฉ. กล่าวอีกว่า เดิมทีคนมักเข้าใจว่า การช่วยชีวิตจะต้องรีบพาไปโรงพยาบาลเท่านั้น แต่จริง ๆ การช่วยชีวิตต้องทำก่อนถึงโรงพยาบาล เพราะช่วงฉุกเฉินคือ ระหว่างไปถึงโรงพยาบาล ดังนั้น หากทำ CPR หรือการฟื้นคืนชีพได้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยชีวิตได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง