ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอเชลยศักดิ์ เป็นหมอชาวบ้าน บางทีก็เรียกว่าหมอกลางบ้านรับทำการรักษาประชาชนทั่วไป มีทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ โดยทั่วไปหมอเชลยศักดิ์มักจะเป็นผู้ชาย นอกจากหมอตำแยซึ่งมักเป็นหญิงสูงอายุ หมอเชลยศักดิ์บางคนอาจจะได้รับการฝึกฝนเล่าเรียนจากอาจารย์ผู้ที่เป็นหมอ แต่บางคนอาจมีตำราแล้วทำการทดลองฝึกหัดรักษาจนชำนาญแล้วตั้งตัวเป็นหมอรับรักษา

โดยทั่วไปหมอเชลยศักดิ์จะทำหน้าที่ทั้งหมอและเภสัชกรไปด้วย กล่าวคือ เมื่อตรวจไข้ และวินิจฉัยโรคแล้ว หมอคนเดียวกันนี้ก็จะทำการปรุงยารักษาด้วย หมอจะมีย่ามยา 1 ใบ ภายในบรรจุซองยาสมุนไพรชนิดต่างๆ เมื่อตกลงจะรักษาคนไข้รายใดก็ให้เจ้าของไข้ตั้งขวัญข้าว ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวสาร กล้วย หมากพลู และเงินติดเทียนหกสลึง

สิ่งเหล่านี้เรียกว่าค่าขวัญข้าวใช้สำหรับเป็นค่าบูชาครูแพทย์(ชีวกโกมารภัจจ์) หมออาจจะให้เจ้าของไข้เก็บเครื่องยาสมุนไพร ส่วนเครื่องเทศหมอเรียกเงินซื้อบ้าง ถ้าไข้ไม่สำคัญคนไข้หายเร็ว เจ้าของไข้ก็ส่งขวัญข้าวทั้งหมดให้หมอและให้ค่ายาอีก 3 บาท แต่ถ้าหมอรักษาไม่หายจะไม่ได้อะไรเลยไม่ว่าจะลงทุนไปแล้วเท่าใดก็ตาม ในรายที่คนไข้มีฐานะดี ผู้เป็นเจ้าของไข้เกรงว่าหมอจะทำการตรวจและรักษาไม่เต็มที่ ก็จะตั้งรางวัลไว้สูง หากหมอคนใดสามารถรักษาหายได้ก็จะได้รางวัลที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ในกรณีที่หมอมีชื่อเสียงบางครั้งอาจมีการเรียกเก็บเงินก่อนทำการรักษาพยาบาล เรียกว่า “ค่าเปิดย่ามยา” หมอเชลยศักดิ์มีรายได้จากค่าตอบแทนในการรักษาพยาบาลเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ละท้องถิ่น และไม่แน่เสมอไปว่าจะได้เป็นเงิน หมอพวกนี้จึงมักประกอบอาชีพอื่นไปด้วย

หมอหลวงและหมอเชลยศักดิ์

หมอหลวงและหมอเชลยศักดิ์ มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ หมอหลวง คือ หมอที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษรับราชการสังกัดอยู่ในกรมราชแพทย์ จึงเป็นข้าราชการที่มีศักดินา ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี ทำหน้าที่รักษาพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ บุคคลต่างๆในราชสำนักและรักษาตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ การศึกษาของหมอหลวงจะเป็นระบบและน่าเชื่อถือ เพราะผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นหมอหลวงนั้นต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เด็กๆ ให้คุ้นเคยกับการรักษาพยาบาล แล้วจะได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยแพทย์ติดตามหมอหลวงไป ทำการรักษาจนมีความชำนาญในการตรวจ ผสมยา เมื่อโตขึ้นก็มีความรู้ พร้อมที่จะเข้ารับราชการได้ เมื่อมีตำแหน่งว่างในกรมหมอหลวงก็จะได้รับการบรรจุเข้าทำงานทันที

หมอหลวงจะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าหมอเชลยศักดิ์หลายอย่าง เช่น สามารถเก็บสมุนไพรตามบ้านราษฎรหรือในที่ใดๆก็ได้ โดยมีกระบองแดง เป็นสัญลักษณ์แสดง ถ้าสมุนไพรชนิดใดขาดแคลนและหมอหลวงไม่สามารถหาได้ในบริเวณเมืองหลวง ก็จะมีสารตราในนามเจ้าพระยาจักรีออกไปยังหัวเมืองให้เก็บสมุนไพรต่างๆมายังโรงพระโอสถ ในด้านรายได้ของหมอหลวงมักจะได้รับเงินเป็นจำนวนมากจากการไปรักษาเจ้านายหรือข้าราชการตามพระบรมราชโองการ ถึงแม้ว่าโดยธรรมเนียมประเพณีแล้ว หมอหลวงที่พระมหากษัตริย์พระราชทานไปรักษานั้นจะไม่คิดค่ารักษาพยาบาล แต่คนไข้ก็มักจะจ่ายให้หมอเป็นการแสดงความขอบคุณเสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม หมอเชลยศักดิ์ก็มีโอกาสจะเลื่อนฐานะของตนเองไปเป็นหมอหลวงได้ในกรณีที่แสดงความสามารถเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระมหากษัตริย์ก็จะโปรดฯให้เข้ารับราชการในกรมหมอหลวง หรือมีโอกาสเข้ารับราชการเป็นหมอประจำเมืองในกรมหมอหลวงของเมืองใหญ่ๆ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น

พระสงฆ์กับหมอเชลยศักดิ์

หมอเชลยศักดิ์นั้น มีทั้งที่เป็นฆราวาสและพระสงฆ์ สำหรับพระสงฆ์ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนให้พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาบาล คือ พุทธบัญญัติที่กำหนดให้พระสงฆ์จำเป็นต้องมีความรู้ในทางการแพทย์เพื่อทำการรักษาพยาบาลพระภิกษุที่อาพาธได้ นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงชี้แนะให้เห็นว่าผู้พยาบาลที่ดีนั้น ควรมีคุณสมบัติอย่างไร หนึ่งในหลายข้อนั้นคือต้องเป็นผู้สามารถประกอบยาและรู้จักของแสลงและไม่แสลงสำหรับคนไข้ ดังนั้น พระสงฆ์จึงจำเป็นต้องมีความรู้ในด้านการรักษาพยาบาล รู้จักตัวยา และประกอบยาได้ อีกทั้งตำรายาที่พระภิกษุสงฆ์เรียบเรียงไว้ยังได้ถ่ายทอดไปยังชาวบ้าน ในขณะเดียวกันก็ให้การรักษาพยาบาลชาวบ้านไปด้วย

เก็บความจาก

ยุวดี ตปนียากร. (2522). วิวัฒนาการของการแพทย์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ขอบคุณรูปภาพจาก: http://ttmnth.blogspot.com/2013/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง