ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกอย่างบนโลกนี้สามารถเป็นพิษกับมนุษย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สารเคมีรายล้อมเราอยู่ทุกแห่งหน

เมื่อใครบางคนเกิดภาวะเป็นพิษขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการรักษาจากผู้มีองค์ความรู้เฉพาะด้าน ทว่าทุกประเทศทั่วโลกกลับกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน นั่นคือความไม่สมดุลระหว่างจำนวนอุบัติการณ์กับปริมาณของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับประเทศไทยแล้ว ถึงแม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับนานาประเทศ แต่นับว่าโชคยังดีที่เรามี “ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” เป็นที่พึ่ง

สถานที่แห่งนี้ รวบรวมองค์ความรู้และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถให้คำปรึกษา-ถ่ายทอดแนวทางการรักษา และให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลต่างๆ ยามเกิดเหตุได้

ในปี 2539 ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ถือกำเนิดขึ้นภายใต้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้องค์ความรู้และศักยภาพด้านพิษวิทยาของประเทศไทย มีการพัฒนาขึ้นอย่างกว้างขวางจวบจนปัจจุบัน

ศาสตราจารย์นายแพทย์วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เล่าย้อนกลับไปว่า ในบรรดาโรงเรียนแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาเพียงไม่กี่แห่งในขณะนั้น คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีนับว่ามีความพร้อมที่สุดทั้งในแง่การดูแลรักษา ห้องปฏิบัติการ (lab) รวมถึงการให้ความสำคัญของผู้บริหารที่สนับสนุนจนมีการก่อตั้งขึ้น

ในช่วงเริ่มต้น ศูนย์พิษวิทยาแห่งนี้ให้บริการตอบคำถาม ให้คำแนะนำ รวมถึงประสานให้ความช่วยเหลือด้านต่างbๆ ผ่านสายโทรศัพท์ โดยมีเจ้าหน้าที่เพียง 2-3 คน ซึ่งต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง นับเป็นการทำงานที่มีความยากและท้าทาย

ขณะเดียวกัน ด้วยข้อมูลที่ยังมีไม่มากในขณะนั้น ทางศูนย์ฯ จึงได้ซื้อฐานข้อมูลด้านพิษวิทยาจากต่างประเทศที่ต้องมีค่า license แต่นั่นยังไม่เพียงพอ เพราะข้อมูลสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์บางส่วนในประเทศไทยก็ไม่สามารถหาได้ หรือข้อมูลของสัตว์มีพิษ เช่นงูพิษที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทางศูนย์ฯ จะต้องรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลในประเทศขึ้นเองเพื่อใช้ในการตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ

จากการดำเนินงานเรื่อยมา ทำให้ได้พบว่าอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่สำคัญของงานพิษวิทยาคลินิก คือการบริหารจัดการด้าน ยาต้านพิษ (antidote) และเซรุ่มต้านพิษงู (antivenom) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นยากำพร้าที่มีจำนวนการใช้ไม่มาก จึงทำให้หายากหรือมีราคาแพง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นก็อาจไม่สามารถที่จะเข้าถึงยาเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนงบประมาณพัฒนาศูนย์พิษวิทยาฯให้เป็น call center อย่างเต็มรูปแบบและเป็นทางการมากขึ้นในปี 2548 เพื่อให้สามารถให้บริการ จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากการบริการได้มากขึ้น ก้าวกระโดดครั้งสำคัญของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2553 เมื่อ สปสช.ได้เข้ามาร่วมงานในการแก้ปัญหายาต้านพิษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยากำพร้า ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระบบการจัดหายากำพร้าที่จำเป็น การให้คำแนะนำการรักษา รวมถึงการสำรองยาตามจุดต่าง ๆ การติดตามประเมินผลและการวางเครือข่ายการทำงานที่เป็นระบบ

โดยปัญหายากำพร้าซึ่งมีราคาแพงนั้น สปสช.ได้นำภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถานเสาวภา มาร่วมพูดคุยและเชื่อมข้อมูลกับศูนย์พิษวิทยาฯ เพื่อดูสถานการณ์ยาในประเทศว่ากำลังขาดอะไร ยาชนิดใดสามารถผลิตเองได้เพื่อความยั่งยืน ยาชนิดใดควรมีผู้แบกรับความเสี่ยงนำเข้าเพื่อให้มีกระจายไว้ครอบคลุมทุกที่

เมื่อบริหารจัดการด้าน supply ยาได้แล้ว หลังจากนั้นจึงเป็นการวางยาในจุดที่เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ หากยาชนิดใดมีความฉุกเฉินและมีระยะเวลาสั้นในการให้ จะเก็บให้ใกล้ผู้ป่วยมากที่สุด โดยกระจายไว้ยังโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่ง ส่วนยาที่มีความเร่งด่วนน้อยลง ค่อนข้างแพง มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไม่มาก หรือมีความยุ่งยากในการใช้มากขึ้น ก็จะเก็บไว้ที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ส่วนในยาที่มีราคาแพงมาก และพอมีระยะเวลาในการให้ ก็จะทำการเก็บไว้ที่ศูนย์พิษวิทยาฯ เอง

การกระจายยาอย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องเดียวที่ถูกพัฒนาขึ้น แต่ยังมีนวัตกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโปรแกรมยากำพร้าระบบ GIS เพื่อให้แต่ละโรงพยาบาลสามารถค้นหาจุดที่มียาใกล้ที่สุด หรือในกรณีจุดของผู้ป่วยและจุดที่มียาอยู่ไกลกันมาก ยังมีการวางระบบจุดกึ่งกลางคือ โรงพยาบาลแห่งที่สาม ที่สามารถนำผู้ป่วยและยามาเจอกันตรงกลาง เพื่อลดระยะเวลาที่ใช้ให้น้อยลงที่สุด

พร้อมกันนี้ ยังมีการให้ความรู้กับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จากโรงพยาบาลใน 4 ภาคทั่วประเทศเข้ามาร่วมทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับพิษวิทยา การให้ยาและอาการโรคต่าง ๆ เพื่อที่เมื่อเกิดเคสสงสัยว่าเป็นพิษแล้วจะโทรเข้ามาปรึกษากับศูนย์พิษวิทยาฯ เพื่อช่วยยืนยันอาการที่เกิดขึ้นและสนับสนุนการรักษาได้ทันที

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการ นอกจากจะปรากฏผ่านระบบการรักษาในภาพรวมที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถประเมินออกมาเป็นมูลค่าได้ เช่น งบการจัดซื้อเซรุ่มต้านพิษงูที่ลดลงไปได้กว่าครึ่งหนึ่ง ในขณะที่สามารถครอบคลุมผู้ป่วยมากขึ้น และยังมีขบวนการ audit เพื่อติดตามและให้ข้อมูลกลับ ทำให้การมีใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้ใช้กรณีการเป็นพิษจากสารไซยาไนด์เป็นตัวแทนในการประเมินผลของโครงการนี้ เนื่องจากภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์ เป็นหนึ่งในภาวะเป็นพิษที่รุนแรง และผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตน้อยนั้น ภายหลังมีโครงการนี้ สามารถแสดงให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตจากไซยาไนด์ลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้เนื่องจากการสามารถผลิตยาต้านพิษชนิดนี้ได้เอง ทำให้ราคาไม่สูงและมีปริมาณที่เพียงพอที่จะกระจายไปยังทั่วประเทศ รวมถึงการมีระบบงานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น เป็นปัจจัยให้ผลการรักษาดีขึ้น

ตลอดการทำงานกว่า 23 ปี กับ 24 ชั่วโมงที่ไม่เคยหยุดให้บริการ ศูนย์พิษวิทยาแห่งนี้ได้รับความเชื่อถือจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในการโทรรับคำปรึกษา คำแนะนำ พร้อมกับความสามารถประสานงานระหว่างเครือข่ายที่เข้าถึงทุกแห่ง เป็นที่ประจักษ์ว่าศูนย์ฯ แห่งนี้ดูแลผู้ป่วยทุกรายโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่เกิดเหตุไปจนถึงการติดตามผลหลังการรักษา

ปัจจุบัน ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ประกอบด้วยอาจารย์แพทย์ประจำ 3 คน อาจารย์แพทย์ไม่เต็มเวลา 3 คน แพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาเวชเภสัชวิทยาและพิษวิทยา 3 คน ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเต็มเวลาที่รับสายและให้คำแนะนำ 5 คน และไม่เต็มเวลา (part-time) อีกกว่า 18 คน แม้จะมีมากขึ้นแต่ก็นับว่ายังไม่เพียงพอกับการทำงาน ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้รับการติดต่อถึงกว่าปีละ 25,000 อุบัติการณ์ จึงยังต้องมุ่งฝึกฝนให้มีเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมต่อไป

เส้นทางการทำงานที่ผ่านมาของศูนย์พิษวิทยาแห่งนี้ ยังทำให้ประเทศไทยพลิกจากประเทศที่อดีตต้องขอความช่วยเหลือด้านยาต้านพิษจากทั่วโลก กลายเป็นประเทศที่สามารถให้ความช่วยเหลือในการส่งยาต้านพิษไปยังประเทศอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้

“ในปี 2549 เราเคยมีอุบัติการณ์หมู่โรคโบทูลิสม (botulism) จากการกินหน่อไม้ปี๊บ มีผู้ป่วยในคราวเดียวร้อยกว่ารายพร้อมกัน แต่ไม่มียาต้านพิษแม้แต่โดสเดียว ต้องขอความช่วยเหลือไปทั่วโลก พอหลังมีโครงการนี้เราสามารถส่งยานี้ไปช่วยประเทศอื่น คือในปี 2560 มีผู้ป่วยโรคโบทูลิสม 3 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 1 รายที่ประเทศไนจีเรีย มีการร้องขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับยาต้านพิษชนิดนี้ผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO) ไปยังทั่วโลก ซึ่งสุดท้ายก็เป็นประเทศไทยที่สามารถจัดส่งยาไปให้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ที่จริงแล้วตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ได้มีการให้ความสนับสนุนยาต้านพิษที่มีอยู่ให้กับประเทศต่าง ๆ บ้างแล้วเช่น ศูนย์พิษวิทยาไต้หวัน สหภาพพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น” ศ.นพ.วินัย ระบุ

สำหรับความท้าทายถัดไป หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาแห่งนี้มองว่ายังเป็นเรื่องของทางออกด้านความยั่งยืนของงบประมาณ ซึ่งในแต่ละปีคณะแพทยศาสตร์จะต้องใช้เงินงบประมาณในการดำเนินการของศูนย์พิษวิทยาฯ เกือบ 10 ล้านบาทต่อปี แต่การให้บริการนี้ ไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายกับผู้มาขอใช้บริการ ทำให้ศูนย์พิษวิทยาไม่มีรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับศูนย์พิษวิทยาทั่วโลก เพราะเกรงว่าการคิดค่าใช้จ่ายจะทำให้การเข้าถึงลดน้อยลง และเป็นผลเสียกับผู้ป่วยโดยตรง ในระยะยาวภาครัฐจึงควรมีการสนับสนุนงบประมาณให้กับศูนย์พิษวิทยา

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายเรื่องของจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา ที่ยังต้องมีให้มากขึ้น โดยเฉพาะให้การรักษาผู้ป่วยจากภาวะพิษ และห้องปฏิบัติการด้านพิษวิทยา ที่ควรมีในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมขึ้นกว่าเดิม ศูนย์พิษวิทยามีเป้าหมายที่จะช่วยให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถวินิจฉัยอาการพิษ และให้การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุดตามศักยภาพที่มี โดยไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปที่อื่นอย่างเดียว

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมการทำงานของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ศูนย์ความเป็นเลิศ ภายใต้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ยังคงมุ่งมั่นดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ ไม่เกี่ยงสิทธิการรักษา เชื้อชาติ หรือข้อจำกัดด้านใด ๆ เพราะหัวใจของงานพิษวิทยา คือการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดพ้นภาวะอันตรายได้ทันการณ์ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

หมายเหตุ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีและสถานเสาวภา สภากาชาดไทย นั้น เป็น 1 ใน 7 สถานที่ศึกษาดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2563 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศจะลงพื้นที่ศึกษาดูงานในวันที่ 30 มกราคม 2563 นี้

ขอบคุณภาพจาก ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี