ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศาลปกครองตัดสินให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จำนวน 3 แสนบาทแก่คุณแม่คนหนึ่งซึ่งมีภาวะเบาหวานและทารกเสียชีวิต ด้านเลขานุการหน่วย 50 (5) อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เผยผู้เสียหายถูกปฏิเสธจ่ายเงินช่วยเหลือโดยให้เหตุผลว่าทารกเสียชีวิตเป็นไปตามพยาธิสภาพ แต่พอตั้งครรภ์คลอดลูกคนที่สองกลับรอดชีวิตมาได้ทั้ง ๆ ที่มีภาวะเบาหวานเหมือนกัน

น.ส.นันทนา นาคำ เลขานุการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการตามมาตรา 50 (5) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้คณะอนุกรรมการตามมาตรา 41 จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 3 แสนบาท แก่คุณแม่คนหนึ่งซึ่งเป็นโรคเบาหวานและทารกเสียชีวิต แต่ถูกคณะอนุกรรมการตามมาตรา 41 พิจารณาว่าการเสียชีวิตดังกล่าวเป็นไปตามพยาธิสภาพและปฏิเสธการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่คุณแม่ผู้นี้

น.ส.นันทนา กล่าวว่า กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าการที่มารดามีภาวะเบาหวาน ทารกไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตตามพยาธิสภาพเสมอไป โดยที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2557 คุณแม่คนนี้ทำงานใน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้ตั้งครรภ์และฝากครรภ์เป็นเวลา 6 เดือนก่อนจะย้ายกลับมาอยู่บ้านพร้อมกับโอนย้ายการฝากครรภ์มาที่โรงพยาบาลในพื้นที่ด้วย

"ตัวคุณแม่มีภาวะเบาหวานร่วม พออายุครรภ์ครบ 38 สัปดาห์ แพทย์บอกว่าการทำคลอดต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากแม่มีภาวะเบาหวาน และส่งตัวไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของอีกโรงพยาบาลหนึ่งผ่าคลอด ตอนส่งตัวไปนั้นอายุครรภ์ก็เข้าสัปดาห์ที่ 39 แต่ทางแพทย์บอกว่าปากมดลูกเปิดแค่เซ็นติเมตรเดียว ก็เลยนัดให้กลับมาอีกในอีก 1 สัปดาห์ พอกลับไปตามนัดก็อายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์ หมอก็บอกว่าครรภ์ยังปกติดี แต่คนไข้รู้สึกปวดท้อง แพทย์ตรวจแล้วปากมดลูกก็ยังไม่เปิด เลยขอทำอัลตราซาวด์พบว่าเด็กไม่หายใจ พอเด็กไม่หายใจก็เลยฉีดยาเร่งคลอดตอนประมาณ 10.00 น. แต่ทำยังไงเด็กก็ไม่ออก กว่าปากมดลูกจะเปิดและเอาเด็กออกมาได้ก็ประมาณ 17.00 น. และพบว่าเด็กเสียชีวิตแล้ว" น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวต่อไปว่า คุณแม่คนนี้ได้มาปรึกษากับหน่วย 50 (5) อ.นากลาง ทางหน่วยฯ จึงส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการมาตรา 41 ระดับจังหวัดพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการมาตรา 41พิจารณาแล้วแจ้งว่าเด็กสามารถเสียชีวิตในครรภ์ได้เนื่องจากภาวะเบาหวาน ถือว่าเป็นไปตามพยาธิสภาพของโรค และแจ้งว่าไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือตามมาตรานี้

"เราก็เลยอุทธรณ์ไปที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุขที่ส่วนกลาง ทางคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯพิจารณาแล้วยืนตามคณะอนุกรรมการมาตรา 41 ว่าเป็นไปตามพยาธิสภาพจริง ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยหากไม่พึงพอใจผลการพิจารณานี้ให้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทางหน่วย 50(5) จึงเป็นผู้รับมอบอำนาจยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลปกครองในเดือน มี.ค. 2558" น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวอีกว่า ทางหน่วย 50(5) ได้ยื่นเอกสารพยานทั้งหมดแก่ศาลไม่ว่าจะเป็นใบนัดพบแพทย์ บันทึกการนับระยะเวลาดิ้นของเด็ก สมุดบันทึกการฝากครรภ์ และบังเอิญว่าปลายปี 2558 คุณแม่คนนี้ได้ตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง และยังไปฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเดิม กับแพทย์คนเดิม ในภาวะที่มีโรคเบาหวานเช่นเดิม พอเข้าปี 2559 ก็คลอดลูกโดยการผ่าคลอดเมื่ออายุครรภ์ได้ 37 สัปดาห์และเด็กก็รอดชีวิต

"ในครั้งนี้เราขอให้เขาเก็บเอกสารการตรวจทุกครั้งเพื่อเอามาเทียบกับลูกคนแรก ซึ่งพอเทียบแล้วภาวะทางสุขภาพทุกอย่างเหมือนกันหมด เราก็เอาข้อสังเกตนี้ไปเสนอให้ศาลพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีคำชี้แจงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ระบุว่าถ้ายืนยันว่าเป็นไปตามพยาธิสภาพของโรค ต้องมีการชันสูตรพลิกศพตอนที่เด็กเสียชีวิตด้วย แต่ในกรณีนี้ไม่มีการชันสูตรจึงเป็นเพียงหลักการว่าอาจเป็นไปแบบนี้ แต่ก็อาจไม่เป็นแบบนั้นด้วยก็ได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อโต้แย้งของเราว่าเมื่อไม่มีการชันสูตรพลิกศพแล้วมาตัดสินกันเองว่าเด็กเสียชีวิตเพราะโรคเบาหวานจึงไม่ถูกต้อง" น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวว่า ในที่สุดศาลปกครองก็ตัดสินคดีนี้ โดยอ้างอิงจากการตั้งครรภ์ลูกคนที่สองซึ่งมีภาวะเบาหวานเหมือนกัน เอกสารการดูแลต่าง ๆ เหมือนกัน แต่ลูกคนที่สองยังรอดชีวิตได้ นอกจากนี้ ในเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 กำหนดว่าถ้าอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ถือว่าเด็กเป็นคนแล้ว สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ศาลพิจารณาว่าคำสั่งของคณะอนุกรรมการมาตรา 41 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำขอจำนวน 3 แสนบาท

น.ส.นันทนา กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ทางผู้ร้องยังต้องรอดูท่าทีก่อนว่าคณะอนุกรรมการมาตรา 41จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ ถ้าไม่อุทธรณ์ ทางหน่วย 50(5) จะได้ทำหนังสือขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำตัดสินของศาลปกครองต่อไป

น.ส.นันทนา กล่าวต่อไปว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ มีข้อสรุปแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ คือ 1.ในกรณีนี้ ทางคุณแม่ไม่ได้ติดใจหรือมีปัญหากับแพทย์ ไม่ได้บอกว่าการให้บริการของโรงพยาบาลไม่มีคุณภาพ แต่เป็นข้อคิดว่าแม้การให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดความเสียหายขึ้น เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้เสียหายก็ควรได้รับสิทธิจากที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น

2.การที่มารดาเป็นโรคเบาหวาน ไม่จำเป็นที่เด็กต้องเสียชีวิตเสมอไป มีวิธีการป้องกันหรือช่วยในการทำคลอดได้ เช่น ถ้าผ่าคลอดตั้งแต่ถูกส่งตัวไป เด็กอาจจะรอดก็ได้

และ 3.กรณีนี้น่าจะนำมาเป็น Case Study ให้แก่หน่วยบริการเพื่อให้เป็นมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ในภาวะเบาหวาน และในการยื่นขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นว่าไม่เป็นไปตามพยาธิสภาพ เพราะในกรณีนี้คุณแม่คนเดิม ภาวะทางสุขภาพทุกอย่างเหมือนเดิม แต่เมื่อทำการผ่าคลอดแล้วปรากฎว่าเด็กรอด จึงเป็นข้อยืนยันว่าไม่ได้เป็นไปตามพยาธิสภาพของโรคแต่อย่างใด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง