ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดินหน้ารณรงค์เปลี่ยนทัศนคติ ลดการตีตราต่อการพกถุงยางอนามัยรับวาเลนไทน์ หวังบรรลุวัตถุวัตถุประสงค์ยุติแพร่เชื้อ HIV ในปี 2573 แพทย์เผยสถิติวัยรุ่น 15-19 ปีใช้ถุงยางอนามัยแค่ 45% ทำยอดผู้ติดหนองใน – ซิฟิลิสพุ่งพรวดถึงขนาดติด 14 คนต่อวัน แถมสถิติวัยรุ่นคลอดลูกไม่พร้อม 190 คนต่อวัน ยังไม่นับที่ทำแท้ง ชี้ความต้องการถุงยางอนามัยในประเทศไทยไม่พอ ต้องการ 105 ล้านชิ้นต่อปี แต่ได้แค่ 70 ล้านชิ้นต่อปี วอนเอกชนทำ CSR ร่วมสนับสนุน ขณะที่วัยรุ่นทำคลิปเน้นผู้หญิงพกถุงยางเองมากขึ้น

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2563 ที่ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กร Aids Healthcare foundation (AHF) Thailand ร่วมกับองค์กรภาคี อาทิ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แอพพลิเคชั่นบลูดี จัดงานมอบรางวัลเยาวชนประกวดคลิปวีดิโอสั้นเพื่อรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย ให้สอดคล้องกับเทศกาลวาเลนไทน์ ในชื่อโครงการ “สวมโลกใบใหม่ให้ condom”

นายกฤษสยาม อารยะวงศ์ไชย ผู้จัดการ AHF Thailand กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้จัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย (พ.ศ.2563-2573 ) ตามเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์คือไม่มีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่อีกในปี พ.ศ.2573 ซึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญคือการลดการตีตราเยาวชนที่พกถุงยาง โดยจัดอบรมเยาวชนรวม 42 ทีมเพื่อผลิตคลิปวีดิโอสนับสนุนการใช้ถุงยางและจะเผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ ของสื่อที่เป็นภาคีต่อไป

พ.ญ.มณฑิณี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ 5,000-6,000 ราย ต้องยุติให้น้อยกว่า 1,000 รายต่อปีให้ได้ใน 10 ปีนี้ ซึ่งกลุ่มประชากรที่การณรงค์เข้าถึงยากคือกลุ่มชายรักชาย กลุ่มค้าประเวณี กลุ่มสาวข้ามเพศ กลุ่มผู้ต้องขัง กระทรวงสาธารณสุขต้องมีเครือข่ายรณรงค์ช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มนี้ และต้องรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติ ให้เป็นวัสดุที่คุ้นชินกับการนำไปไหนมาไหน

“ภาคีเครือข่ายที่จัดทำยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัยพบว่า การสำรวจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี อัตราใช้ถุงยางต่ำลง ซึ่งจากกลุ่มตัวอย่างเราพบตัวเลขหนึ่ง แต่ถ้าสำรวจวัยรุ่นทุกคนคาดว่า น่าจะใช้อยู่แค่ 45% ทำให้เกิดแนวโน้มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำคัญเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า มากที่สุดคือหนองที่ติดเพิ่มขึ้น 69.7% ซิฟิลิสก็เพิ่มขึ้นมาก ในวัยรุ่นเรียกว่า 124 คนต่อแสนประชากร หรือ 14 คนต่อวัน อีกทั้งการไม่ใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นทำให้มีการตั้งครรภ์ ซึ่งมีการประเมินว่า วัยรุ่นที่คลอดลูกนี่คือ 35% หรือสรุปเป็นตัวเลขคือ 190 คนต่อวัน หรือ 3 คนต่อจังหวัด นี่เฉพาะการคลอดไม่นับการทำแท้ง” พ.ญ.มณฑิณี กล่าว

พ.ญ.มณฑิณี กล่าวว่า จากคลิปวิดิโอที่เยาวชนส่งเข้าประกวด มีหลายคลิปที่สะท้อนภาพของผู้หญิงเป็นผู้พกถุงยางเอง เป็นการปรับภาพลักษณ์ของถุงยางอนามัยว่าไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ชาย แต่เป็นการรับผิดชอบร่วมกันไม่ว่าจะเป็นคู่ไหนก็ตาม ยุทธศาสตร์ถุงยาง เรามองความต้องการใช้ให้กับประชาชนทั่วไปไม่ว่าเพศใดก็ตาม เรามียุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยที่สำคัญคือ การส่งเสริมการใช้ในประชาชนทั่วไป การเข้าถึงถุงยางอนามัยให้ราคาเหมาะกับทุกกลุ่มประชากร ซึ่งปัจจุบันภาครัฐ เอ็นจีโอก็สนับสนุน แต่การสนับสนุนไม่เพียงพอ เพราะกลุ่มประชากรยังมีช่องว่างที่ยังต้องเข้าถึงถุงยาง ตามที่เราเคยทำสำรวจ คือต้องมีถุงยาง 105 ล้านชิ้น ต่อปี แต่ที่เราได้จากภาคต่าง ๆ รวมถึงภาคีต่างชาติ สนับสนุนตกอยู่ที่ 70 ล้านชิ้นต่อปีซึ่งมันก็ยังขาดอยู่ อยากให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจทำเรื่อง CSR (การตอบแทนสังคม) เรื่องนี้ด้วย

พ.ญ.มณฑิณี กล่าวต่อว่า สำหรับกระแสที่มีการรณรงค์เรื่องผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีผลเลือดเป็น U=U คือรับยาต้านจนไม่แสดงอาการและไม่แพร่นั้น ยังถือว่าเป็นงานวิจัย และมันใช้กับกลุ่มที่ไม่เปลี่ยนคู่นอน ตราบใดที่ไม่มียารักษา HIV ให้หายขาด เราก็ต้องรณรงค์การใช้ถุงยางต่อไป การเป็น u=u ถ้าเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้งมันก็มีโอกาสเกิดการแลกเชื้อและเกิดเชื้อดื้อยา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องของยาต้าน แต่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขก็มองถึงเรื่องการผลักดันการใช้ยา PrEP อยู่ ซึ่งเป็นยาใช้กินก่อนมีเพศสัมพันธ์หรือพฤติกรรมเสี่ยงสัมผัสเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ ซึ่งวิจัยใช้สามกลุ่มคือชายรักชาย กลุ่มคู่รักผลเลือดต่างที่คนหนึ่งติดเชื้อ และกลุ่มใช้ยาเสพติด แต่ในผู้หญิงยังไม่มีการรับรอง เพราะการวิจัยจะเลือกวิจัยจากกลุ่มที่มีโอกาสในการติดเชื้อ HIV สูง อย่างไรก็ต้องใช้ PrEP ร่วมกับถุงยางอนามัย

เมื่อถามถึงแนวคิดเรื่องการใช้ PrEP on Demand คือการรับยา PrEP 2 เม็ดก่อนมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และรับต่อจากนั้นอีก 1 เม็ดใน 24 ชั่วโมง และรับต่ออีก 1 เม็ดใน 24 ชั่วโมง พ.ญ.มณฑิณี กล่าวว่า ต้องยืนยันว่า นโยบายของภาครัฐเห็นชอบเรื่องการใช้ PrEP ปกติกินทุกวัน (PrEP daily) ซึ่งเรื่องการใช้ PrEP เป็นนโยบายที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้เข้าถึงในหลาย ๆ พื้นที่ อบรมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้อบรมผู้บริโภคกินยาได้ถูกต้อง ว่า ต้องกินอย่างน้อย 7 วันก่อนมีเพศสัมพันธ์ และต้องกินต่อเนื่อง 3 เดือนเต็ม และยืนยันว่า ยาไม่ได้ออกแบบให้ไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะมันมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นที่ยา PrEP ป้องกันไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการทำคลิปวิดิโอของเยาวชนมีความหลากหลาย และหลายคลิป แทบจะส่วนใหญ่ ใช้ตัวแสดงเป็นผู้หญิง สมาชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ผู้หญิงจะพกถุงยาง มีบางคลิปที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายชายเองต้องรู้ขนาดอวัยวะเพศเพื่อซื้อถุงยางได้เหมาะสม และหลายคลิปพยายามสื่อสารให้เห็นว่า ผู้ปกครองเองก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ ควรยอมรับและส่งเสริมให้บุตรหลานป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย บางคลิปไม่ได้รณรงค์เรื่องการพกถุงในเยาวชน แต่รวมไปถึงคู่สมรสที่แต่งงานแล้วเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก โดยภาพรวมคือแต่ละคลิปต้องการบอกว่า การใช้ถุงยางอนามัยจะเป็นการรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม โดยคลิปที่ชนะเลิศเป็นคลิปวีดิโอชื่อ “ไอ้แดงพระโขนง” ของกลุ่ม unique studio และรองชนะเลิศอันดับหนึ่งเป็นคลิปจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร รองชนะเลิศอันดับสองเป็นคลิปจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

นอกจากนี้ ในงานยังมีการออกแบบแพคเกจกล่องใส่ถุงยางอนามัยลวดลายต่างๆ เพื่อลดความอายในการพกถุงยาง โดยศิลปินอิสระต่างๆ โดยจะแสดงภาพถึงวันที่ 23 ก.พ.และจะนำรูปแบบแพคเกจไปใช้เป็นกล่องหรือซองถุงยางขององค์กร AHF อีกด้วย