ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ชี้การต่อสู้ของประเทศไทยกับปัญหา COVID-19 ประชาชนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคไปพร้อมกับกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการตระหนักถึง 2 คำ คือ สำนึกต่อสังคม และ สังคมสมานฉันท์

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประชาชนไทยต้องตระหนักว่าปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนไทยทุกคน ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไทยทุกคนและกระทรวงสาธารณสุข การจัดการของประเทศเพื่อให้การเข้าสู่การระบาดของโรคระยะที่ 3 เกิดความสูญเสียน้อยที่สุดนั้น ต้องให้เข้าสู่ระยะ 3 อย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถรับมือกับอาการเจ็บป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

กรมสุขภาพจิตอยากให้คนไทยทุกคนต่อสู้ด้วย สติ คือรับมือโรคนี้แบบ ตระหนัก ไม่ตระหนก โรคติดต่อไวรัสนี้สามารถป้องกันได้ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ เมื่อเจ็บป่วย ก็มีวิธีการดูแลรักษาได้ แต่ก็เหมือนกับโรคทุกชนิด มีทั้งคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง หรือไม่รุนแรง โดยกรมสุขภาพจิตอยากให้ประชาชนตระหนักถึง 2 คำสำคัญ คือ สำนึกต่อสังคม (Social responsiveness) และ สังคมสมานฉันท์ (Social cohesion)

สำนึกต่อสังคม (Social responsiveness) นั้นหมายถึง การมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมและการกระทำต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล ทุกคนสามารถสร้างได้โดยดูแลสุขภาพตนเองให้ดี กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำให้ความรู้กับคนที่ยังไม่รู้ หรือให้ความช่วยเหลือแนะนำต่าง ๆ ให้ฟังข้อมูลข่าวสารจากทางรัฐ หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้าเจ็บป่วยโรคทางเดินหายใจ ให้ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ปกปิดข้อมูลต้องแจ้งทางการหรือปฏิบัติตามข้อแนะนำเมื่อมีความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่เผยแพร่ หรือสร้างข่าวลวงที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ไม่ไปในที่มีคนแออัด ถ้าเจ็บป่วยหรือสงสัยให้รีบไปพบแพทย์

สังคมสมานฉันท์ (Social cohesion) นั้นหมายถึง การที่สังคมไทยต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลกัน ช่วยเหลือกัน ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเราสามารถป้องกันตัวเองได้ สังคมต้องร่วมแรงร่วมใจ ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมและป้องกันโรค เชื่อมั่นในระบบของประเทศที่เราสามารถควบคุมป้องกันโรคที่ผ่านมาด้วยดีโดยตลอด เชื่อมั่นในศักยภาพและความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกระดับ ให้กำลังใจซึ่งกันและกันและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์