ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอจุฬาฯ เผยเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโคโรนารายแรกว่าไม่เกี่ยวไข้เลือดออก แท้จริงแล้วต้องการให้เตรียมพร้อม ตระหนักว่าไวรัสโคโรนา 2019 อันตรายจริง ๆ และเกิดการป้องกันเข้มข้น พร้อมปรับการวินิจฉัยครอบคลุมคนทุกวัย ไม่ได้ขัดแย้งกระทรวงสาธารณสุข

สืบเนื่องจากกรณีที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแสดงความคิดเห็นกรณีกระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวพบผู้เสียชีวิตที่ป่วยโควิด-19 รายแรกของไทยว่า มีโรคไข้เลือดออกร่วมด้วย ซึ่ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง นั้น

วันที่ 3 มี.ค. 2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ได้ต้องการให้สังคมเกิดความตระหนกตกใจ แต่ต้องการให้ตระหนักและเกิดการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้อย่างเข้มข้น เนื่องจากข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า เดิมทีผู้ป่วยที่เสียชีวิตนั้น มาจาก รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เดิมพบไข้เลือดออก แต่เมื่อมาถึงสถาบันบำราศนราดูรไม่พบเชื้อไข้เลือดออก แต่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปอดถูกทำลายมาก ซึ่งข้อมูลนี้ถูกต้อง แต่ประเด็นที่อยากสื่อสารคือ กระทรวงสาธารณสุข ต้องสื่อสารว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันตรายจริง ๆ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตล้วน ๆ การจะไปรอขั้นตอนคณะกรรมการวิชาการมาพิจารณาอาจไม่ทัน เนื่องจากต้องมีการประกาศให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศเตรียมพร้อมว่า การตรวจวินิจฉัยอาการที่อาจมาจากโควิด-19 ไม่ใช่ว่าจะพบแต่ผู้สูงอายุ แต่พบได้ในคนหนุ่มสาว คนทุกวัย มีความเสี่ยงรับเชื้อ และเกิดอาการรุนแรงได้หมด

“ หากเรามัวรอเวลา ก็จะทำให้ทุกอย่างช้า และอาจไม่ทันการณ์ได้ เนื่องจากหมอที่ตรวจอาจวินิจฉัยพลาดได้ ซึ่งไม่ได้ตั้งใจ เพราะเข้าใจมาตลอดว่า ไวรัสโคโรนา 2019 อันตรายเฉพาะผู้สูงวัย หรือคนมีโรคประจำตัว รวมถึงภาวะมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ จริง ๆ ต้องตรวจให้ละเอียดทั้งหมด รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ก็อยากให้ตระหนักว่า ยังต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการออกมาพูดไม่ได้เกี่ยวข้องว่าต้องการขัดแย้งกับกระทรวงสาธารณสุขใช่หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้อยากขัดแย้งกับใคร ที่ผ่านมาตนทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการควบคุมป้องกันโรคมาตลอด ยิ่งคนทำงานด้วยกันตนยิ่งนับถือ และมีความเคารพ แต่ที่ออกมาสื่อสารก็อย่างที่บอกว่า ต้องการให้เรามีความพร้อม และรับมือกับเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างรวดเร็ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า เห็นได้จากกรณีวอร์รูมกระทรวงฯ หรือศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีทุกวันนี้ยังติดระบบราชการ ติดขั้นตอนต่าง ๆ ตนเสนอว่าควรต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่เพื่อให้การปฏิบัติงานกระชับรวดเร็วขึ้น โดยต้องเป็นอิสระ และดำเนินการสั่งการณ์ได้ทันที แต่ต้องรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ทราบเรื่องนี้ตลอด หากมีการปรับรูปแบบใหม่การทำงานก็จะรวดเร็วขึ้น