ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระวัฒน์” เผยมาตรการรัฐบาลป้องกันโควิด19 มีทิศทางดีขึ้น ทำให้ไวรัสจากรุนแรงกลับไปนุ่มนวลได้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าไวรัสรุนแรงจะมีมาก แต่ไวรัสนุ่มนวลก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกระแสข้อกังวลไวรัสโคโรนา 2019 หรือไวรัสโควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์จนส่งผลต่อความรุนแรงหรือไม่ เนื่องจากวิตกว่าแต่ละประเทศสายพันธุ์จะแตกต่างกัน ว่า ยังบอกแบบนั้นไม่ได้ จริงๆ ไม่ต้องสนใจ เพราะไวรัสโดยปกติจะผันแปรไปเรื่อยอยู่แล้ว โดยจะมีทั้งกลุ่มที่รุนแรง และนุ่มนวล อย่างอิตาลี ที่พบว่ารุนแรงนั้นมีหลายสาเหตุ ทั้งเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน การป้องกันตัวเอง

“ข้อมูลจากจีนพบว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อติด 1 คน พบว่าคนที่รับเชื้อต่อมา ไวรัสจะปรับรหัสพันธุกรรมผันแปรออกไป เรียกว่า เวลาแพร่ออกไปในแต่ละครั้งหน้าตาก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคนที่รับเชื้อ พูดง่ายๆ ปกติเมื่อรับเชื้อไวรัสตัวแรก ก็จะเพิ่มจำนวนออกมา แต่ตัวลูกตัวหลานที่ออกมาจะไม่เหมือนกับตัวพ่อทีเดียว ซึ่งการปรับเปลี่ยนแบบนี้ มี 2 อย่าง คือ มิวเทชั่น (Mutation) การผันแปรของรหัสพันธุกรรม และรีคอมบิเนชั่น (Recombination) การรวมกันใหม่ของรหัสพันธุกรรม โดยแต่ละไวรัสก็จะมีทั้ง 2 แบบ ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการปกติของไวรัสทุกชนิด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าแสดงว่าไวรัสโควิด-19 ยังไม่นิ่ง จะมีความเสี่ยงรุนแรงขึ้นได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ไวรัสชนิดนี้มีทั้งแบบรุนแรง หรือเรียกว่า L และแบบนุ่มนวล หรือ S โดยไวรัสต้นตอที่ระบาดจากคนสู่คน คือ ชนิดที่นุ่มนวล จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา จากตัวนุ่มนวลได้กลายเป็นตัวที่มีความรุนแรง เมื่อเชื้อเข้าสู่มนุษย์ แต่ร่างกายมนุษย์จะมีแอนติบอดีต่อต้านไวรัสพวกนี้อยู่ ร่างกายพยายามกดดันไวรัสรุนแรงให้กลับคืนเป็นพวกนุ่มนวลใหม่ ในขณะเดียวกันไวรัสพวกนี้เมื่ออยู่บนพื้นผิวต่างๆ มีแรงกดดันจากการถูกทำความสะอาด รวมไปถึงการให้ยาต่างๆ กับผู้ป่วยติดเชื้อ ก็เป็นแรงกดดัน ทำให้ไวรัสจากรุนแรงกลับไปนุ่มนวลได้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าไวรัสรุนแรงจะมีมาก แต่ไวรัสนุ่มนวลก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

“ดังนั้น มาตรการป้องกันที่ออกมาจากรัฐบาล เป็นสิ่งที่มาถูกทาง เพราะเมื่อมีการเว้นระยะห่างต่อกัน 1-2 เมตร เน้นทำงานที่บ้าน ลดการเคลื่อนย้ายของคน ฯลฯ ที่สำคัญคนที่ยังทำงานต้องมีการป้องกันตัวเอง ทั้งอยู่ข้างนอก และกลับบ้าน ทั้งสวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย สวมหน้ากากผ้าหากไปในสถานที่ชุมชนหรือแออัด หรือมีคนจำนวนมาก โดยเฉพาะต้องล้างมือบ่อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากทำได้จะช่วยลดการติดเชื้อลง ทุกคนต้องร่วมมือช่วยกัน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว