ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนศูนย์ฯหลักประกันสุขภาพเชียงใหม่ ชูความสำคัญ ‘งานส่งเสริมป้องกันโรค’ แก้ไขปัญหาประชากรแฝง พบติดขัดด้านงบประมาณ-กองทุนฯ พร้อมชี้ปัญหา ‘เด็กกลุ่มจี-เชื้อดื้อยา’ ผลพวงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ

นางอัญชลี สุใจคำ

นางอัญชลี สุใจคำ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในเวทีสาธารณะระดมสมองเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนหนึ่งว่า ระบบหลักประกันสุขภาพนั้นไม่ใช่เพียงให้ผู้ที่ป่วยแล้วนึกถึงสิทธิการรักษา แต่ควรส่งเสริมป้องกันโรคผู้ที่ยังไม่ควรป่วย เพื่อไม่ให้เงินกองกลางถูกนำมาใช้ไปกับค่ารักษาเสียหมด

นางอัญชลี กล่าวว่า แม้งานส่งเสริมป้องกันโรคจะมีงบประมาณสนับสนุน ซึ่งคุ้นเคยกันดีในฐานะกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) แต่งบประมาณที่ลงมานั้นนับตามรายหัวประชากรที่มีเลขบัตรประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นหากพื้นที่ใดมีประชากรแฝงครึ่งหนึ่ง งบจึงลงมาเพียงครึ่งเดียว ขณะที่งานส่งเสริมป้องกันต้องทำกับประชากรทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ เช่น โรคระบาด

“โดยปกติแล้วประชากรแฝง หากเป็นคนไทยที่มาจากต่างจังหวัดก็ยังสามารถทำการย้ายสิทธิได้ ขณะที่กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ส่วนหนึ่งก็มีเลขบัตรในระบบที่สามารถใช้สิทธิได้ หรือในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีนายจ้าง ก็ยังมีการซื้อประกันได้ ดังนั้นปัญหาประชากรแฝงในพื้นที่คือกลุ่มที่ไม่ปรากฏตัวตน ที่เราจะต้องนับให้เห็นและนำเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ” นางอัญชลี ระบุ

ทั้งนี้ นอกจากกองทุนสุขภาพระดับตำบล กองทุนดูแลระยะยาวฯ (LTC) ที่นำมาใช้ในการส่งเสริมป้องกันโรค ยังมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ที่สามารถนำมาใช้เน้นในผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง แต่ปัจจุบัน จ.เชียงใหม่ กลับยังไม่มีกองทุนนี้ และยังไม่เป็นที่รู้จักหรือมีการพูดถึงมากนัก ขณะที่จังหวัดรอบข้างอย่างเชียงราย หรือลำพูนนั้นมีแล้ว

ด้าน น.ส.กิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายชาติพันธุ์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกลุ่มประชากรแฝง อันดับแรกหากเป็นคนไทยก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ส่วนผู้ที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็สามารถใช้กองทุนต่างด้าว และหากเป็นกลุ่มชนเผ่า ชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทย จะเข้าไปอยู่ในกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ระหว่างที่รอการพิสูจน์สถานะและสัญชาติ

“ในกลุ่มคนที่กำลังพิสูจน์สถานะของตนเอง ระหว่างที่กระทรวงมหาดไทยกำลังสำรวจ เขาได้ให้เลขจำลองในระบบชั่วคราวไว้ก่อนเป็นเลข 0 ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิด้านสถานะ แต่ได้รับสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีสิทธิเทียบเท่าคนสัญชาติไทยในการรักษา ยกเว้นเพียงการคุ้มครองตามมาตรา 41 หากได้รับความเสียหายจากการรักษา” น.ส.กิ่งแก้ว ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกองทุนคืนสิทธิ แม้ตามระเบียบจะมีการให้สิทธิในเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรคไว้ แต่กลับไม่มีงบประมาณรายหัวลงไปเหมือนกับสิทธิบัตรทอง ดังนั้นประชากรแฝงในเขตเมืองที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จึงยังเข้าไม่ถึงการส่งเสริมป้องกันโรคโดยตรง เช่น หากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาตรวจวัดความดัน เจาะน้ำตาล หรือให้ยาต่างๆ กลุ่มเหล่านี้จะไม่ได้รับสิทธิแม้อยู่ในท้องที่

น.ส.กิ่งแก้ว กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาคือเด็กกลุ่มจี คือกลุ่มเด็กที่ไม่มีเลข 13 หลัก ซึ่งอาจเข้ามาพร้อมกับพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ ทั้งยังพบว่าปัจจุบันมีเด็กกลุ่มนี้เยอะมากโดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งเชียงใหม่มีเด็กกลุ่มจีที่อยู่ในระบบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 1.5 หมื่นคน จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าประชากรแฝงในเขตเมืองนั้นไม่ใช่เพียงแรงงานข้ามชาติ แต่ยังหมายรวมถึงผู้ติดตามที่ไม่ปรากฎตัวอีกด้วย

น.ส.กิ่งแก้ว กล่าวอีกว่า ยังมีปัญหาเรื่องสถานพยาบาลที่รองรับสิทธิ ซึ่งในเขตเมืองกลับเข้าถึงยากที่สุด เพราะมีโรงพยาบาลที่รองรับแห่งเดียวคือ รพ.นครพิงค์ ฉะนั้นหากต้องใช้เวลาในการเดินทาง หรือรอการรักษาเป็นเวลานาน เขาจึงเลือกที่จะไม่ไป และใช้สถานพยาบาลโดยเสียเงินเอง เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติ แม้เขารู้ว่ามีโรงพยาบาลที่ให้การรักษา แต่ไม่สามารถไปในช่วงเวลาเปิดบริการได้ ก็ต้องเลือกไปสถานพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ ที่จ่ายเงินเอง

“การป่วยหลายวันทำให้เขาขาดรายได้ ดังนั้นถ้าเขาใช้ยาแรงได้ก็จะเอาเลย เอาแบบฉีดวันเดียวหายทำงานต่อได้ ไม่ต้องกินยา เราจึงพบว่าสถานการณ์ของคนกลุ่มนี้ ยังอาจเป็นกลุ่มที่มีเสี่ยงเรื่องการดื้อยาจำนวนมาก เพราะใช้ยาแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอาจยังไม่เคยคุยกัน” น.ส.กิ่งแก้ว ระบุ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง