ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จับมือโรงเรียนแพทย์วอนประชาชนร่วมมือทำ social distancing อย่างจริงจังเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนทางการแพทย์มีความพร้อมเต็มที่ เน้นพิเศษพื้นที่ กทม.เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 80% ของทั้งประเทศ เคาะมาตรการย้ายผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงไปพักอยู่ในโรงแรม เบื้องต้นโรงแรมบางกอกพาเลสยกห้องให้ 350 ห้องแล้ว ส่วนเครื่องช่วยหายใจยืนยันว่ามีเพียงพอ

วันที่ 21 มี.ค. 2563 ได้มีการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คณบดีคณะแพทยศาสตร์ทุกคณะในพื้นที่ใน กทม. โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนจากแพทยสภา และ ผู้แทน กทม. เพื่อหารือแนวทางการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนยืนยันความพร้อมของบุคลากรสาธารณสุขในการรักษา พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในอยู่บ้าน เว้นการเดินทางไปในที่ที่มีผู้คนจำนวนมากอย่างจริงจังเพื่อหยุดยั้งการระบาดดังกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กทม.เป็นแหล่งที่มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 80% ของผู้ป่วยทั่วประเทศ ดังนั้นจะต้องเน้นมากเป็นพิเศษ เพราะถ้าสามารถควบคุมสถานการณ์ใน กทม.ได้ สถานการณ์ทั่วประเทศจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยต้องปิด กทม. ให้มิดชิด ปิดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปิดเมือง แต่ปิดผู้ป่วยไม่ให้เดินทางไปแพร่กระจายเชื้อให้มากที่สุด และต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในช่วงที่มีการระบาด ทุกคนในประเทศไทยต้องรู้จักและเข้าใจคำว่า social distancing ต้องปรับพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นองค์กรหลักประสานงานกับโรงเรียนแพทย์และส่วนงานที่มีสถานบริการทางการแพทย์ ในการสนับสนุนทั้งข้อมูล เวชภัณฑ์ ยา ความร่วมมือในการส่งต่อ และหลักวิชาการต่างๆ ที่จะมาสู้กับโรคนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนจะต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อห้ามคนออกจากบ้านหรือไม่นั้น ตนหวังว่าภายใต้อำนาจตามกฎหมายในขณะนี้ ถ้าได้รับความร่วมมือจากประชาชนจะยังคงควบคุมสถานการณ์ได้

"ทีมที่มาประชุมวันนี้คือทีมที่ดีที่สุดในประเทศไทยแล้ว ขอให้มั่นใจในพวกเรา แล้วเราจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง" นายอนุทิน กล่าว

ด้านศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ใน กทม. เป็นจุดที่ยุ่งยากมากที่สุด ทางกระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการทั้งหมด การป้องกัน ควบคุม รักษา ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการรักษา วันนี้มีความชัดเจนขึ้นว่าผู้ที่ติดเชื้อแต่อาการไม่หนักจะจัดสรรให้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เช่น โรงแรม ไม่ใช่มาอยู่ที่โรงพยาบาลหมด โดยขณะนี้มีโรงแรมบางกอกพาเลส ยกห้องให้ 350 ห้อง ยืนยันว่าตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป โรงพยาบาลสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลุ่มที่อาการไม่หนักไปอยู่ในสถานที่นี้ได้ ซึ่งจะช่วยคลี่คลายความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้มีเตียงรองรับเพียงพอผู้ป่วยมากขึ้น

ส่วนห้อง ICU ได้มีการประมาณการสามารถรองรับผู้ป่วย และได้รับการยืนยันว่ามีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอ ยืนยันว่าดูแลผู้ป่วยได้แน่นอน ขณะที่เรื่องความสามารถในการตรวจเชื้อ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจได้วันละประมรณ 5,000 ตัวอย่าง ส่วนกรณีโรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีข่าวว่าจะหยุดทำการตรวจเพราะน้ำยาไม่พอนั้น เป็นการส่งสัญญาณผิดพลาด ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานแล้วและจะกลับมาตรวจอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค. 2563 นี้

นพ.ปิยะสกล ย้ำว่า ขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าทีมแพทย์ผู้รักษา และทีมกระทรวงสาธารณสุขที่ควบคุมป้องกัน ได้ร่วมมือเป็นเนื้อเดียวไม่มีรอยต่อ อย่างไรก็ดี ประชาชนต้องช่วย social distancing ด้วย การ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ" คือกระบวนการที่จะหยุดการแพร่เชื้อได้ เป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโรคและป้องกันไม่ให้ติดคนอื่น นี่คือการรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยทุกคนต้องทำด้วยความเต็มใจและช่วยเตือนเพื่อนที่ไม่ทำ ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อต้องรับผิดชอบด้วยการไปรายงานตัว ไม่ใช่ปกปิดไว้ การปกปิดไม่ได้ประโยชน์อะไรเพราะจะเกิดอันตรายต่อคนรอบข้างและเจ้าหน้าที่ผู้ทำการรักษา

"ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังไม่ลดลงเพราะเป็นเทรนด์ขาขึ้น แต่กระบวนการที่รัฐกำลังทำอยู่และความร่วมมือของประชาชนจะทำให้ตัวเลขนี้ชลอลงถ้าทุกคนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เรื่อง social distancing สำคัญมาก ประชาชนต้องมีวินัย ช่วยกันดูแลตัวเองและผู้อื่น ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศไทยถึงจะอยู่รอดได้ ยังไงก็ต้องลำบาก ยังไงก็ต้องเจ็บปวดทุกคน แต่ด้วยความเป็นคนไทย เชื่อว่าเราจะจับมือเดินไปด้วยกัน ก้าวผ่านไปได้แน่" นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โมเดลที่กำลังทำอยู่นี้คือ กทม. โรงเรียนแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขทำงานประสานกัน ทุกโรงเรียนแพทย์ของทุกมหาวิทยาลัยในไทย ทุกสภาวิชาชีพ จะร่วมมือกันหาข้อมูลวิชาการและนำมาประสานกับประสบการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ดูแลระบบบริการสุขภาพของประเทศ เพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่สังคมไทย

"ครั้งนี้เป็นการร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ลำพังนักวิชาการและกระทรวงสาธารณสุขยังเติมเต็มไม่ได้ถ้าสังคมไม่ร่วมมือ ขอย้ำว่าอย่ารักความสะดวก รักความสนุกจนละเลยการร่วมกันป้องกัน การอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติเป็นการทำหน้าที่ของคนไทย หากการติดเชื้อหลุดไปแค่ 1-2 คน อาจทำให้คนอื่นเสียชีวิต ทำให้สูญเสียครอบครัว ดังนั้นขอให้ทุกคนร่วมมือกัน ครั้งนี้ไม่ใช่แค่พูดแต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง" นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การออกมายืนยันความพร้อมทางการแพทย์และการเน้นย้ำเรื่อง social distancing เพื่อลดการระบาดในครั้งนี้ สอดคล้องกับการที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 ดังต่อไปนี้

1. ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารเพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหาร ในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)

2. ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จําเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารเพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่น)

3. พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ

4. ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสําเร็จ เพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต)

5. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม

6. สถานที่บริการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย

7. สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

8. สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม

9. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต

10. สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

11. สระว่ายน้ํา หรือกิจการอื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

12. สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่

13. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา

14. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ

15. สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา

16. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม

17. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)

18. สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ํา ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

19. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด

20. สถานประกอบกิจการอาบน้ํา อบไอน้ํา อบสมุนไพร

21. โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)

22. สถานที่ออกกําลังกาย

23. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ

24. สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย

25. สนามกีฬา

26. สนามม้า