ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.แถลงผู้ป่วยโควิด-19 ตายเพิ่ม 1 ราย ป่วยสะสม 1,245 ราย เผยมี 17 รายที่อาการหนักในขณะนี้ เกินครึ่งอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป วอนเฝ้าระวังกลุ่ม “สูงอายุ” - “โรคประจำตัวเรื้อรัง” โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคความดันสูง เบาหวาน ไต และมะเร็ง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป

วันนี้ (28 มี.ค. 2563) เวลา 12.00 น. กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้า สถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลก ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 6 แสนราย เสียชีวิต 27,352 กระจายใน 197 ประเทศ ล่าสุดประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และจีน ตามลำดับ ทว่าประเทศที่มีอัตราตายสูงสุดคืออิตาลี 9,134 ราย ส่วนในประเทศไทยวันนี้ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ 109 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 55 ปี มีประวัติเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี มีไขมันในเลือดสูง เข้ารักษาเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอาการหอบเหนื่อย ตรวจพบปอดอักเสบรุนแรง ต่อมาต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

ขณะที่ยอดสรุปผู้ป่วยในประเทศไทยนั้น พบผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 1,245 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,139 ราย ในจำนวนนี้มี 17 รายที่อาการหนัก โดยอายุผู้ป่วยน้อยที่สุดคือ 6 เดือน มากที่สุด 84 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ปี เหตุที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุนี้ เพราะจุดหลักการแพร่กระจายเชื้อ อยู่ที่สถานบันเทิงและสนามมวย ส่วนใหญ่คนที่เข้าไปดูอายุเป็นกลุ่มอายุไม่มากนัก ส่วนภาพรวมตามรายจังหวัด ขณะนี้มีผู้ป่วยกระจายใน 57 แห่ง โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กทม. 515 ราย นนทบุรี 68 ราย ภูเก็ต 41 ราย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยป่วยมากขึ้น มีส่วนหนึ่งที่อาการรุนแรงและเสียชีวิตแต่เป็นส่วนน้อย โดยสัดส่วนเสียชีวิตในบ้านเรา ที่ปัจจุบันรวม 6 ราย คิดเป็น 0.5% จากจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,245 ราย ซึ่งต่ำกว่าในหลายประเทศ ซึ่งกลุ่มเสียชีวิตมีความแตกต่างจากเคสทั่วไป ส่วนใหญ่จะอายุมากกว่า โดยในจำนวน 17 รายที่อาการหนักในขณะนี้ เกินครึ่งอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ภาครัฐจึงมีมาตรการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อในผู้สูงอายุ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลญาติผู้ใหญ่ในบ้าน ซึ่งกลุ่มที่จะนำเชื้อไปติดคือคนวัยทำงานและอายุน้อย ต้องเฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการ โดยเฉพาะคำแนะนำให้กลุ่มคนที่เดินทางกลับถิ่นฐาน จากพื้นที่ กทม. และปริมณฑล แยกตัวเมื่อถึงภูมิลำเนาต่างจังหวัด ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ญาติผู้ใหญ่

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องโรคประจำตัวก็มีส่วนสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตแม้จะไม่ทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคความดันสูง เบาหวาน ไต และมะเร็ง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อติดเชื้อมีโอกาสอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น หากผู้ป่วยมีองค์ประกอบทั้ง 2 ปัจจัย โอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจะมากขึ้น