ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยวันนี้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รักษาหายกลับบ้าน 16 ราย พบรายใหม่ 136 ราย เสียชีวิต 2 ราย สรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 127 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,388 ราย อาการหนัก 23 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย แนะประชาชนหากจำเป็นต้องเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 16 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 71 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 2 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 10 ราย กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 59 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 59 ราย เป็น กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 21 ราย กลุ่มผู้ทำงาน, อาศัย ในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 15 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย กลุ่มที่ไปสถานที่แออัด 3 ราย กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธารณะ 4 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 14 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 6 ราย

ได้รับรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย รายที่ 1 เป็นชายไทยอายุ 54 ปี มีประวัติเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลยะลา รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี มีภาวะปอดอักเสบ เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจำนวน 23 ราย อาการยังอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด สรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 127 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,388 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย กระจายอยู่ใน 18 จังหวัด มากสุดที่กรุงเทพฯ 80 ราย รองลงมา คือเชียงใหม่ 9 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ภูเก็ต 6 ราย ชลบุรีและนครสวรรค์จังหวัดละ 3 ราย เป็นต้น ซึ่งยังพบผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธารณะ ทั้งรถแท็กซี่, รถเมล์, รถบัส, รถตู้, รถไฟฟ้า, เรือ, เครื่องบิน อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ คนขับ ผู้โดยสาร พนักงานอื่นๆ รวมทั้งประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทาง เพิ่มความระมัดระวัง ป้องกันตัวเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ อาบน้ำทันทีเมื่อกลับเข้าบ้าน และเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว

ในส่วนผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะและพนักงาน ต้องทำความสะอาดยานพาหนะอย่างสม่ำเสมอ เปิดประตูหน้าต่าง ระบายอากาศ และหลังรับผู้โดยสารที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ให้สวมถุงมือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เน้นพื้นผิวที่ประชาชนสัมผัสบ่อย เช่น มือจับประตู เบาะรถ ที่พักแขน เป็นต้น