ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ชี้เป้าหมายให้พื้นที่ขยายการตรวจและเฝ้าระวังเข้มข้น เน้นค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุกในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก อาทิ กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนมาตรการจำกัดการเข้าออกในบางพื้นที่อย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ว่า ในวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 111 ราย โดย 69 ราย เป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบเฝ้าระวังอยู่เดิม กว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ให้ความสำคัญและออกค้นหาเชิงรุก (Active case finding) อย่างเต็มที่ เพื่อควบคุมการระบาด และมีกลุ่มที่น่าจับตามองคือ กลุ่มคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการคุมเข้ม ป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศ ล่าสุดมีคนไทยกลับจากอินโดนีเซียตรวจพบเชื้อ 42 ราย จากผู้ป่วยที่มีอาการ 52 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 ได้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษา ส่วนที่เหลือขณะนี้อยู่ที่ State Quarantine ทั้งหมด ไม่มีใครได้กลับบ้าน ขอให้มั่นใจว่าทั้งหมดจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

“มาตรการที่จะต้องเข้มข้นในขณะนี้คือ จะขยายการตรวจและการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเชิงรุก มุ่งเน้นไปยังพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยกรมควบคุมโรคจะชี้เป้าหมายให้กับพื้นที่เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่ และสนับสนุนมาตรการจำกัดการเข้าออกในบางพื้นที่อย่างเคร่งครัด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

โดยที่จังหวัดภูเก็ตเริ่มพบการระบาดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 158 ราย ร้อยละ 84 อยู่ในวัยทำงาน เป็นคนไทย 119 ราย ต่างชาติ 39 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงหลักที่พบ ได้แก่ อาชีพที่มีการติดต่อกับนักท่องเที่ยวหรือคนจำนวนมาก และติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า มีชาวต่างชาติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด จังหวัดได้มีมาตรการปิดสถานบันเทิง ร้านนวดบริเวณ ขยายทั้งจังหวัดและมีการปิดช่องทางเข้าออกจังหวัดแต่ ยังพบมีผู้ป่วย จากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มเติมในชุมชน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ จะเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ติดตามอาการ และกักกันให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อไป

สำหรับกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของการระบาดตั้งแต่ผู้ป่วยรายแรกในประเทศจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่พบในปัจจุบันเป็นกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้เป็นหลัก แสดงให้เห็นว่า มาตรการที่รัฐบาลทำมาได้ผลในการควบคุมในระดับชุมชน สถานที่ชุมนุมชน แต่ยังมีการแพร่เชื้อในกลุ่มผู้ใกล้ชิด ดังนั้นการทำ Social Distancing จึงต้องเข้มข้น ทั้งในบ้าน และที่ทำงาน หรือในที่ที่มีผู้คนไปรวมตัวกัน อย่างไรก็ตาม การที่จะควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ทุกคน