ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเตรียมพร้อมหลังคลายล็อกดาวน์ ตรวจโควิดให้ได้ 5,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เน้น “บุคลากรทางการแพทย์ – กลุ่มอาชีพเสี่ยง” ทั้งพนง.ส่งอาหารเดลิเวอรี่ ส่งไปรษณีย์ พนง.ขับรถ

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/ 2563 ว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบข้อเสนอจากคณะกรรมการด้านวิชาการ ซึ่งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้นำข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนกิจการ/ กิจกรรมในการควบคุมโรคโควิด 19 หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแบ่งกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่สามารถเปิดกิจการได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กิจการ/ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันระดับพื้นฐาน เช่น ร้านอาหารที่เปิดโล่ง ร้านตัดผมที่ไม่มีแอร์คอนดิชัน ตลาด 2.กิจการ/กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร นวดแผนไทย 3.กิจการ/ กิจกรรมที่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เช่น ฟิตเนส โรงยิม สปา กองถ่ายภาพยนตร์ และ 4.กิจการ/ กิจกรรมที่ไม่ควรให้เปิดดำเนินการ คือสถานที่ที่เป็นที่แออัด คับแคบ ปิดทึบ มืดสลัว ทำให้มองพื้นผิวสัมผัสไม่ชัดเจน และ/หรือมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนต้องมีความใกล้ชิดกัน มีการรวมกลุ่มกัน มีการพูดคุยกันหรือส่งเสียงดัง เช่น สนามมวย บ่อน สถานบันเทิง ทั้งนี้ ทุกกิจการ/กรรมต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเน้นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลทุกแห่ง ซึ่งได้เสนอข้อมูลดังกล่าวต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทราบแล้ว

นายอนุทิน กล่าวว่า รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการตรวจหาเชื้อฯ เพื่อการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ โดยเพิ่มอัตราการตรวจจาก 2,000 คนต่อประชากรล้านคน เป็น 5,000 คนต่อประชากรล้านคน ซึ่งจะทำให้มีความมั่นใจในการเฝ้าระวังและตรวจพบผู้ป่วยได้เร็ว โดยกำหนดกลุ่มประชากรที่ต้องเฝ้าระวังเรียงลำดับ ดังนี้ 1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 2.ผู้ต้องขังรายใหม่ 3.กลุ่มอาชีพที่พบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ และพนักงาน4.กลุ่มอื่นๆ ตามสถานการณ์ของพื้นที่ ทั้งนี้ต้องให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อมีการเปิดให้ใช้ชีวิตมากขึ้น แปลว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้อีก เพราะยังมีคนติดเชื้อไม่มีอาการได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติสำคัญคือการค้นหาผู้ป่วย และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเชิงลึกในพื้นที่ ซึ่งมีข้อกำหนด 2 ข้อคือ 1.กำหนดพื้นที่เสี่ยง และ 2. การกำหนดกลุ่มเสี่ยง โดยเพิ่มอัตราการตรวจให้ได้จาก 2,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน เป็น 5,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน

 ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการตรวจ คือ บุคลากรทางการแพทย์ คนที่ทำอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่ ส่งไปรษณีย์ พนักงานขับรถโดยสาร แคมป์คนงานก่อสร้าง ชุมชนแออัด ผู้ต้องขังรายใหม่ แรงงานต่างด้าว ทั้งในเขตเมืองและบางพื้นที่ ส่วนวิธีการตรวจคือการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อ ด้วย RT-PCR จากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก และเสริมด้วย RT-PCR จากน้ำลายส่วนลึกในลำคอ เพราะบางพื้นที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก เช่น พื้นที่มีแรงงานต่างด้าวเยอะ เป็นหลักพันหลักหมื่นคนก็จะเอาการตรวจน้ำลายส่วนลึกในลำคอมาเสริม เพื่อลดเวลา อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ยังจะใช้การตรวจ RT-PCR จากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกเช่นเดิม

“เนื่องจากตอนนี้เราเริ่มเข้าระยะของการผ่อนปรน ดังนั้นต้องมีการค้นหาผู้ที่มีเชื้อ มีการอาการน้อยๆ ในพื้นที่ให้พบ ตรวจกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้ทราบว่าเขามีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ ขณะนี้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น กทม. 3 จังหวัดชายแดนใต้ และบางพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวเยอะ เป็นต้น ทั้งนี้จะเร่งทำให้เสร็จภายในพ.ค.นี้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง