ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค แจงสาเหตุปลด จีน-เกาหลีใต้ ออกจากเขตติดโรคติดต่อฯ เพราะจำนวนผู้ป่วยต่อวันน้อย จับตาหลัง มิ.ย. เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหมดอายุ

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เสนอให้ยกเลิกการประกาศให้ประเทศจีน และเกาหลีใต้ เป็นท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ที่เสนอให้ยกเลิก 2 ประเทศนี้เป็นเขตติดโรคติดต่อฯ เพราะเราดูจากสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีจำนวนไม่เยอะมาก และถ้าดูจำนวนคนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตอนนี้ก็มีไม่เยอะ เพราะฉะนั้นต่อให้ประกาศไม่ใช่เขตติดโรคติดต่อฯ แล้วก็ไม่ทำให้จำนวนคนที่จะเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด คนที่จะเข้ามาได้ต้องเป็นคนที่ได้รับการยกเว้น

“ดังนั้นคณะกรรมการวิชาการจึงเห็นว่าควรลดระดับ 2 ประเทศนี้ และเสนอให้รมว.สาธารณสุข ลงนามประกาศ ล่าสุดเสนอทาง ศบค. ท่านนายกรัฐมนตรีก็พิจารณาจากสถานการณ์แล้วเห็นควรว่าควรประกาศลดระดับลง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว และว่า ส่วนประเทศอิตาลี และอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศที่ประเทศที่ถูกประกาศยกระดับพร้อมๆ กับจีน และเกาหลีนั้น สถานการณ์ในอิตาลียังมีผู้ป่วยต่อวันจำนวนมาก ส่วนที่อิหร่าน แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจะลดลงมากแล้ว แต่เมื่อดูที่ระบบสาธารณสุขภายใน เทียบกับจีนและเกาหลีใต้ ทำให้เรายังคงประกาศให้อิตาลีและอิหร่าน เป็นเขตติดโรคติดต่อโควิด-19 เช่นเดิม แต่หากสถานการณ์ดีขึ้น คณะกรรมการวิชาการอาจจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

เมื่อถามว่าในทางกลับกันเราจะประกาศเพิ่มประเทศใดเป็นเขตติดโรคติดต่อเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เดิมเราใช้เกณฑ์การพิจารณาจากสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่นั้นๆ แต่วันนี้มีการติดเชื้อไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ถือว่ามีความเสี่ยงหมด แต่ในประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน มีการควบคุมเรื่องคนเดินทางโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเดือน มิ.ย. ซึ่งจะหมดระยะเวลาของการประกาศเราจะทำอะไรต่อไป จึงต้องจับตาสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติม

“ต้องย้ำว่าสถานการณ์โรคโควิด-19ในประเทศไทยดีขึ้นเพราะ 2 ส่วนคือคนไทยให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างดี กับ 2 คือการไม่นำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา แต่หลังมิ.ย.จะมีการเดินทางก็ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบภายใต้มิติการควบคุมโรคและการเดินทาง สิ่งที่น่าห่วงคือการข้ามพรมแดนธรรมชาติ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง