ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยปรับเปลี่ยนการแพทย์วิถีใหม่ 3 ประเด็น ทั้งการผ่าตัดแนวใหม่ การแพทย์ฉุกเฉินแนวใหม่ ทั้งหมดเน้นความปลอดภัยทั้งบุคลากรการแพทย์และผู้รับบริการ

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสาธิต  ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะเห็นชัดคือ การแพทย์วิถีใหม่ หรือ  New Normal of medical Service     โดยได้เริ่มต้นแล้วที่กรมการแพทย์ดำเนินการ และจะขยายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม อยากขอให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อการบริการวิถีใหม่ ซึ่งระบบมีความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า จากโรคโควิด-19 ได้ปรับเปลี่ยนการแพทย์วิถีใหม่ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน 3 ประเด็น คือ 1. ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่(2P Safety) เป็นเป้าหมายระยะสั้น   อย่างการผ่าตัดวิถีใหม่ โดยเดิมเลื่อนการผ่าตัดกรณีไม่เร่งด่วน แต่ขณะนี้มีการโทรแจ้งให้กลับมาดำเนินการ แต่ต้องทำให้ปลอดภัยทั้งคนไข้และหมอ เพราะหากคนไข้มาเป็นโควิด แล้วหมอไม่ทราบก็จะเกิดการแพร่กระจายได้ โดยกรมการแพทย์ได้ทำแพคเกจผ่าตัดวิถีใหม่ การแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่  รวมทั้งการทำทันตกรรมปลอดภัยด้วย ซึ่งได้จัดทำรายละเอียดเสร็จแล้ว

2.การลดความแออัด เป็นเป้าหมายระยะกลาง การให้บริการจะลดความแออัดเน้น 2 กลวิธี ประกอบด้วย  2.1 จัดระบบการบริการใหม่แยกกลุ่มประเภทผู้ป่วยให้ชัดเจน อันแรก คือ กลุ่มสีเขียว เป็นกลุ่มที่ดูแลตนเองได้ดี ก็อาจเข้ามาเช็กกับแพทย์ปีละ 2 ครั้ง  กลุ่มที่สอง เป็นสีเหลือง ที่ต้องการปรึกษาแพทย์ด้วยคำถามปัญหาเล็กน้อย ก็จะมีอสม.ลงไปเยี่ยมบ้านว่า มีปัญหาอะไร อยากคุยกับแพทย์ ซึ่งหากมีก็จะผ่านวิดีโอคอล  และ กลุ่มที่สาม เป็นสีแดง กลุ่มที่มีความจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งก็จะมีการจัดคิว ไม่ให้รอนาน อย่างรพ.ราชวิถี หากนัด 9 โมงครึ่ง ก่อน 9 โมงจะยังไม่ให้เข้ามาในคลินิกที่นัดไว้ แต่ให้ไปรอร้านกาแฟ หรือสวนสาธารณะของรพ. เพื่อลดความแออัดในบริเวณคลินิกโอดีพี(ผู้ป่วยนอก)   และ 2.2 กลวิธีพัฒนา Digital Solution หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการ  อาทิผ่านแอปพลิเคชัน ตั้งแต่เข้าตรวจ จนรักษา และจ่ายเงินก็ผ่านแอปพลิเคชันได้ ไม่ต้องหยิบจับธนบัตร   โดยทั้งหมดจะมีการถอดบทเรียนเพื่อทำกับรพ.ในเขตสุขภาพ 12 เขตทั่วประเทศ

3.เพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแพทย์วิถีใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยี ทำให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม  ทั้งหมดมีการทำแล้วที่จ.ปัตตานี จะเห็นชัดเจน และอีก 1 ปี จะขยายไปยังระดับภูมิภาคทั่วประเทศ   

เรื่องที่เกี่ยวข้อง