ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เยี่ยมชม รพ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ศึกษาตัวอย่างระบบจัดส่งยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้านโดย อสม. ลดความแออัดแผนกผู้ป่วยนอกได้ถึง 63% ชี้เป็นตัวอย่างดีๆ ของการสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งในชุมชนและเชื่อว่าจะเห็นภาพเหล่านี้ในชุมชนต่างๆมากขึ้นในอนาคต

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่โรงพยาบาลท่าช้าง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วยระบบจัดส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยโรงพยาบาลดังกล่าวได้จัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังด้วยการกระจายยาไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แล้วให้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำยาไปกระจายแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดความแออัดในคลินิกผู้ป่วยนอกได้ถึง 63% อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงแก่ผู้สูงอายุในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดอีกด้วย

นพ.สันติสุข พักธรรมนัก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าช้าง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากบริบทของพื้นที่มีประชากรผู้สูงอายุถึง 28% และในจำนวนนี้กว่า 50% เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คนกลุ่มนี้แต่เดิมต้องให้ลูกหลานพามามารับยาที่โรงพยาบาลหรือหากลูกหลานไม่ว่างก็ต้องเหมารถมา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลูกหลานในวัยทำงานก็ต้องหยุดงานมาส่ง ทำให้สูญเสียรายได้ เกิดปัญหาขาดนัดรับยาและเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดระบบบริการโดยดึง รพ.สต. ในพื้นที่ ประกอบด้วย สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ต.พิกุลทอง รพ.สต.ถอนสมอ และ รพ.สต.วิหารขาว มาร่วมกระจายยาให้ผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลจะจัดยามาส่งให้ที่รพ.สต. จากนั้น ทาง อสม.จะเป็นผู้นำส่งยาไปให้แก่ผู้ป่วยในพื้นที่แต่ละรายอีกทอดหนึ่ง

นพ.สันติสุข กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องคุณภาพการบริการนั้น จะมีการติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยมี อสม.ไปดูแลที่บ้าน เจาะเลือด วัดความดัน และบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มที่โรงพยาบาลกำหนด จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อถึงรอบนัดรับยา แพทย์จะเข้าไปพิจารณาข้อมูลว่าสถานะทางสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายเป็นอย่างไร หากมีอาการเข้าเกณฑ์มาตรฐานก็จะจ่ายยาตามปกติ แต่หากเคสไหนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือความดันสูง ก็จะนัดให้มารับการตรวจที่โรงพยาบาล และหากผู้ป่วยมาเองไม่ได้ ก็จะมีรถของโรงพยาบาลไปรับด้วย

นพ.สันติสุข กล่าวด้วยว่า ยิ่งในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดอยู่นี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีมีนโยบายเน้นการดูแลป้องกันในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งทั้งจังหวัดมีจำนวนกว่า 4 หมื่นคน โดยมีการจัดหาเครื่องเทอโมสแกน และจัดทีม อสม. ลงพื้นที่ไปสแกนเฝ้าระวังให้แก่ผู้สูงอายุ ตลอดจนจัดหางบประมาณสนับสนุนค่าเบี้ยเลี้ยงแก่ อสม. ด้วย ขณะที่ที่ประชุม Service Plan จ.สิงห์บุรี ก็มีนโยบายว่ากลุ่มผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะจัดส่งยาไปให้ในชุมชน ส่วนกลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน จะให้มาตรวจที่โรงพยาบาล จากการเก็บข้อมูลพบว่าทั้งจังหวัดมีผู้ป่วยมาที่แผนกผู้ป่วยนอกลดลง 52% โดยเฉพาะที่ รพ.ท่าช้าง ซึ่งมีการจ่ายยาลงในชุมชน ผู้ป่วยนอกลดลงถึง 63% จาก 160-170 คน/วัน เหลือ 52 คน ยิ่งในช่วงรอบนัดรับยาเดือนที่ผ่านมา กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีการรับยาที่บ้านถึง 71% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมในพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อมาดูตัวอย่างดีๆ ของการสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งในชุมชน โรคเรื้อรังบางอย่างสามารถจัดระบบบริการในชุมชนได้โดย อสม.เป็นคนกลางดูแล เจาะเลือด วัดความดัน ถ้ามีปัญหาก็ปรึกษาเจ้าหน้าที่อนามัย นี่เป็นอีก 1 ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนและเชื่อว่าในอนาคตจะเห็นภาพเหล่านี้มากขึ้นในชุมชนต่างๆ

"โครงการนี้ทำมา 4 ปีแล้ว ประชาชนได้ประโยชน์ ได้รับยาจากการส่งยาโดย อสม. การจัดส่งนี้ไม่ใช่แค่ส่งอย่างเดียวแต่มีการตรวจจากเภสัชกร เจ้าหน้าที่อนามัย มีสมุดประวัติบันทึกข้อมูลไว้อย่างดี ทำให้คนไข้ได้รับยาสม่ำเสมอ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีงบประมาณสนับสนุนค่ารถให้ อสม. นี่คือความสวยงามในพื้นที่ ถ้าทุกชุมชนทำอย่างนี้ได้ คนไข้ก็จะอยู่ในชุมชน แล้วมันมีความอบอุ่นเพราะทางรพ.สต. อสม. และป่วยก็สะดวกในการพูดคุยกัน ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่งกำเนิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ทาง สปสช.ก็ต้องมาคิดว่าระบบสุขภาพชุมชนในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผู้ให้บริการในชุมชนที่ไม่ใช่สายอาชีพ เช่น อสม. Care Giver พนักงานรถฉุกเฉินของท้องถิ่น แพทย์แผนไทย หมอชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ที่มีบทบาทนำในด้านสุขภาพจะได้รับการสนับสนุนอย่างไร สปสช.อาจต้องหางบประมาณสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ในการดูแลคนในชุมชน ซึ่งการลงพื้นที่เยี่ยมชมครั้งนี้ก็เป็นการศึกษาตัวอย่างที่ดีและจะนำข้อมูลที่ได้ไปออกแบบระบบบริการในอนาคต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง