ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยของกังวลหลังเกาหลีใต้ติดเชื้อจากศูนย์จัดส่งสินค้า หวั่นไทยเสี่ยงรับเชื้อจากการสั่งซื้อของออนไลน์ เสี่ยงรับเชื้อทางพัสดุ เหตุศูนย์แพ็คของเป็นสถานที่ที่ สธ.กำหนดให้มีมาตรการป้องกันโรคระบาด

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความกังวลกรณีมีรายงานว่าข่าวว่า เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากศูนย์จัดส่งสินค้า จากการสั่งซื้อออนไลน์ ส่วนประเทศไทยจะมีความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ลักษณะนี้หรือไม่ ว่า จริงๆ การจัดสิ่งของหรือสินค้าทางออนไลน์นั้น จัดเป็นสถานที่หนึ่ง ซึ่งต้องมีการป้องกันหลายขั้นตอน สถานที่จัดแพ๊กของก็เป็นสถานที่ทำงานเหมือนกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการต่างๆ เช่น หากป่วยให้หยุดงาน โดยที่ทำงานต้องคัดกรองผู้มาทำงานทุกวัน ผู้ทำงานก็ต้องใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลา โอกาสจะมีผู้ป่วยหลงเข้ามาช่วงแพ๊กของอาจมีบ้าง แต่หากมีระบบเฝ้าระวังป้องกันโรคก็จะพบได้ไม่เยอะ

“จริงๆ อุณหภูมิห้องแบบไทย การที่เชื้อจะอยู่ อยู่ไม่ได้ ยิ่งร้อนมากเชื้ออยู่ในสภาพแวดล้อมก็จะน้อย อย่างเชื้อจะอยู่ในกล่องนั้น ก็อยู่ได้สั้นกว่าพื้นผิวสแตนเลส เวลาส่งเกิน 24 ชม. เชื้ออยู่ภายในมีน้อยมาก หากกังวลมากก็ทำความสะอาดก่อน แค่นี้ก็ลดการแพร่โรคจากของสั่งซื้อออนไลน์ได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 2 ราย รวมผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 2,931 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.97 ของผู้ป่วยทั้งหมด เหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 66 ราย หรือร้อยละ 2.16 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 9 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและได้เข้ารับการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (จากซาอุดิอาระเบีย 6 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย และกาตาร์ 1 ราย) ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 57 ราย มีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,054 ราย

รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม เป็นต้น จัดสถานที่และมาตรการรองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อป้องกันการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาแพร่สู่คนในประเทศ โดยทำการคัดกรองผู้เดินทางตั้งแต่สนามบินและด่านชายแดนต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนดอย่างเคร่งครัด หากมีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) เช่น มีไข้ ไอ อาการระบบทางเดินหายใจจะถูกส่งไปโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการจะถูกส่งตัวไปยังสถานที่เฝ้าระวังกักที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) เพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการจนครบ 14 วัน สำหรับการเก็บตัวอย่างทางเดินหายใจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโควิด 19 กำหนด 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ประมาณวันที่ 3 – 5 และครั้งที่ 2 ประมาณวันที่ 11 – 13 ของการกักตัว หากผู้เข้ารับการกักตัวมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือคัดกรองพบการติดเชื้อ จะถูกส่งไปยังสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อเข้ารับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชน

จากข้อมูลผู้ที่เดินทางเข้าประเทศและเข้ารับการเฝ้าระวังกักกันในสถานที่รัฐจัดให้ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง 27 พฤษภาคม 2563 มีผู้เข้ารับการเฝ้าระวังกักตัวทั้งหมด 26,752 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 20,259 ราย พบผู้ติดเชื้อรวม 117 ราย โดยเป็นผู้ที่เดินทางมาจาก 18 ประเทศ ส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศอินโดนีเซีย ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย  สำหรับในวันนี้ (27 พฤษภาคม 2563) จะมีเที่ยวบินนำคนไทยจาก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แคนาดา อินโดนีเซีย และฮ่องกง กลับเข้าประเทศ รวมจำนวน 401 ราย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง