ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้าราชการปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมลงชื่อผ่าน Change ขอความเป็นธรรมให้ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมเผย 8 ข้อสังเกตคำถามปมสอบสวนวินัยร้ายแรง

กลายเป็นเรื่องยาวที่น่าติดตามภายหลัง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งโยกย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ให้ไปอยู่กองบริหารการสาธารณสุข และให้นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า ไปรักษาการแทน เนื่องจากนพ.ชาญชัย มีเหตุว่าอาจขัดขวางการสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบในเรื่องเงินบริจาคบริษัทยา ขณะที่ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) เตรียมสอบอีกทางหนึ่ง เนื่องจากกรณีเป็นที่สนใจของสังคมและถูกจับตามองเรื่องธรรมาภิบาล ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่าเป็นอำนาจปลัด สธ. ไม่ล้วงลูกทุกอย่างว่าตามหลักฐาน

ความคืบหน้าวันที่ 3 มิ.ย. เกิดกระแสเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อ นพ.ชาญชัย หลังจากบุคลากรโรงพยาบาลขอนแก่นได้มีการออกมาให้กำลังใจนพ.ชาญชัย โดยครั้งนี้เป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านการระดมรายชื่อ ในนาม “ข้าราชการปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข” โดยจัดทำกิจกรรมร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ https://www.change.org/ เรื่องขอธรรมาภิบาลแก่กระทรวงสาธารณสุข กรณีข้อกล่าวหา นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ. รพศ.ขอนแก่นทุจริต ผิดวินัยร้ายแรงจนต้องย้ายออกจากพื้นที่แบบเร่งด่วน โดยมีการอธิบายรายละเอียด ดังนี้

1. เงินที่ได้รับมาจากบริษัทยาเป็นเงินบริจาคเข้ากองทุนพัฒนาโรงพยาบาล ซึ่งในกองทุนนี้ก็รับเงินบริจาคของทุกๆ คน เช่น เงินบริจาคของโครงการก้าว, เงินบริจาคจากห้างร้าน หรือ บุคคลทั่วไป

2. การรับเงินเข้ากองทุนมีหลักฐานการรับเงินชัดเจนตรวจสอบได้ทุกครั้ง

3. การใช้จ่ายเงินในกองทุนจะใช้จ่ายผ่านคณะกรรมการกองทุน ไม่ใช่อำนาจ ผอ.คนเดียว และยังต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุน ได้แก่ เพื่อปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง, ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ หรือ สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการศึกษาอบรมเพื่อประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย

4. ผอ. จะรับทราบเงินในกองทุนโดยระบบการรายงานสถานการณ์บัญชี คือ รายรับรวม - รายจ่ายรวม - เงินคงเหลือ โดยไม่ได้เห็นรายละเอียดรายรับว่าใครเป็นผู้บริจาคบ้าง (ดังนั้น ผอ. จะไม่ทราบว่าเงินบริจาคเป็นของบริษัทไหน จำนวนเท่าไหร่)

5. ผอ.และทีมบริหารโรงพยาบาลมีการสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรและสั่งการในที่ประชุมหลายครั้งไม่ให้เจ้าหน้าที่รับเงินจากบริษัทยา (มีหลักฐานชัดเจน)

6. หลังมีการสั่งการไม่ให้รับเงินจากบริษัทยา ยอดเงินบริจาคในกองทุนก็ลดลงไปมาก ทำให้ ผอ.และผู้บริหารคิดว่าเจ้าหน้าที่ทุกระดับปฏิบัติตามข้อสั่งการ (ช่วงเวลานี้คือช่วงที่กล่าวหาว่าทุจริต)

7. ถ้า ผอ. จะมีความผิดวินัย ก็คงเป็นเรื่องของการไม่กำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาในการรับเงินบริจาคจากบริษัทยา ซึ่งความรุนแรงของความผิดไม่ใช่การผิดวินัยขั้นร้ายแรง

8. สุดท้ายข้อกล่าวหาความผิดวินัยร้ายแรงเท่านั้น จึงจะสามารถย้าย ผอ. ออกจากโรงพยาบาล และเอาผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่ ผอ. แทนได้

ติดตามรายละเอียดได้ใน https://www.change.org

 

ภาพจาก สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป