ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ข่าวปลอมเกี่ยวกับสูตรเยียวยารักษาโรคทีแพร่หลายในโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้ระบาดแค่ในประเทศ แต่ถูกกระจายออกไปทั่วโลก ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีข่าวปลอมเกี่ยวกับสูตรการรักษาโควิด-19 ปลอมๆ ถูกปล่อยออกมาตามโวเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก สื่อกระแสหลักและบุคคลากรทางแพทย์ในหลายประเทศพยายามแก้ไขข้อมูลเท็จเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

1. ดื่มน้ำร้อนสู้ไวรัส
    มีการโพสต์ปลอมที่อ้างว่ามาจากยูนิเซฟ (UNICEF) ที่ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หลายข้อ เช่นข้อความหนึ่งบอกว่า "หากไวรัสสัมผัสกับอุณหภูมิที่ 26 ถึง -27 องศาเซลเซียสมันจะถูกฆ่า เนื่องจากมันทนร้อนไม่ได้ นอกจากนี้การดื่มน้ำร้อนและการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเคล็ดวิธีในการป้องกันไวรัส จงหลีกเลี่ยงไอศกรีมและอาหารเย็นจัด เรื่องนี้สำคัญมาก" และยังบอกว่า "ให้บ้วนปากด้วยน้ำอุ่นและน้ำเกลือ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ต่อมทอนซิลและป้องกันไม่ให้มันรั่วไหลเข้าไปในปอด" 
    ข้อมูลเหล่านี้ถูกแชร์ในวงกว้าง แม้แต่นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมทีของอินเดียก็ยังบอกว่าการดื่มน้ำอุ่นเป็นช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของของร่างกาย 
    ต่อมายูนิเซฟระบุไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้เป็นผู้ให้คำแนะนำดังกล่าว (และในความเป็นจริงยูนิเซฟไม่ใช่หน่วยงานด้านการแพทย์เลย) ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ก็คือ การดื่มน้ำร้อนๆ หรือการกินอาหารเย็นจะไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย ดังนั้นจะไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อต้านไวรัส ส่วนองค์การอนามัยโลกอธิบายว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเหลือจะกำจัดโคโรนาไวรัสได้ แพทย์ในต่างประเทศจึงแนะนำว่าให้เลิกสนใจข้อมูลนี้ไปเลย (1) (2)

2. ซิลเวอร์คอลลอยด์
    ข้อมูลปลอมเรื่องหนึ่งถูกแชร์อย่างกว้างขวางใน Facebook อ้างว่าซิลเวอร์คอลลอยด์สามารถฆ่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ ซิลเวอร์คอลลอยด์ (Colloidal silver) ประกอบด้วยอนุภาคเงินขนาดเล็กในของเหลว ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด-19 มีการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามันดีต่อสุขภาพ ตรงกันข้ามมันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยซ้ำ (3) 
    ระหว่างการระบาดมีการประโคมว่าซิลเวอร์คอลลอยด์ช่วยฆ่าไวรัสได้หากกินวันละ 1 ช้อนชา (4) แต่ในเวลาต่อมาศาลแขวงสหรัฐ ประจำเขตตะวันออกของโอคลาโฮมามีคำสั่งห้ามชั่วคราวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 มิให้บริษัท  Xephyr LLC ทำการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซิลเวอร์คอลลอยด์โดยอ้างว่าจะรักษาบรรเทาหรือรักษาโคโรนาไวรัส-โควิด-19 รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่นปอดบวม เอดส์ และมะเร็ง เพราะไม่ได้รับการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ ว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (5)

3. น้ำยาฟอกขาว
    การใช้น้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาซักผ้าขาว (Bleach) เพื่อฆ่าเชื้อในช่วงไวรัสระบาดเป็นหนึ่งในความเชื่อผิดๆ ที่ระบาดหนักที่สุด จากการสำรวจออนไลน์โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่าเกือบ 40% ของชาวอเมริกันใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบผิดๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยคนเหล่านี้จำนวน 19% ใช้สารฟอกขาวกับอาหารเพราคิดว่าจะฆ่าเชื้อได้ และมี 4%  ที่ดื่มหรือบ้วนปากด้วยสารละลายเจือจางที่ทำจากน้ำสบู่และน้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้ออื่นๆ (6)
    การใช้น้ำยาฟอกขาวและสารเคมีประเภทใกล้เคียงเป็นอันตรายอย่างมากและทำให้สายด่วนรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับสารพิษในสหรัฐอเมริกามีผู้ใช้บรการมากขึ้นเป็นจำนวนมากเพราะเหตุผลนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลผิดๆ นี้กระจายออกไปเพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาเคยแนะนำให้ทำการวิจัยว่าจะสามารถรักษาโคโรนาไวรัสด้วยการฉีดสารฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้หรือไม่ ซึ่งในเวลาต่อมาเขาบอกว่าเป็นแค่การพูดติดตลกเท่านั้น (6) 

4. น้ำมะนาวอุ่น
    น้ำมะนาวรักษาโรคเป็นสูตรที่แพร่หลายในโซเชียลเน็ตเวิร์กก่อนหน้าการระบาด เช่น สูตรน้ำมะนาวโซดารักษามะเร็งที่ถูกเปิดโปงว่าป็นข้อมูลเท็จ ในช่วงที่มีการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีการอ้างว่าการดื่มมะนาวในน้ำอุ่นจะสามารถป้องกันทั้งโควิด-19 และมะเร็งด้วยการเพิ่มระดับวิตามินซีในร่างกาย ข้อมูลนี้เผยแพร่บน Facebook เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปนและโปรตุเกส ช่วงกลางเดือนมีนาคมมันถูกแชร์มากกว่า 40,000 ครั้งบน Facebook พบในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ (7)
    สำนักข่าวเอเอฟพีได้ติดต่อไปยัง Nicolas Boisel นักโลหิตวิทยาที่โรงพยาบาล Saint-Louis ในปารีสซึ่งบอกว่าไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการดื่มน้ำร้อนกับมะนาวสามารถรักษามะเร็งได้

ในขณะที่ Henry Chenal ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางชีววิทยาแบบบูรณาการ (CIRBA) ในเมืองอาบีจาน ประเทศไอวอรี่โคสต์กล่าวว่าการบริโภควิตามินซีในปริมาณที่สูงไม่สามารถป้องกันโคโรนาไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และกีวีให้วิตามินซีมากกว่ามะนาว ดังนั้นหากจะทำให้ทฤษฏีดังกล่าวถูกต้องมากกว่านี้ก็ไม่ควรบริโภคมะนาวแต่ควรเป็นกีวีมากกว่า (7)

5. กระเทียม 
    เช่นเดียวกับมะนาว กระเทียมกลายเป็นยาครอบจักรวาลที่ถูกแชร์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กมาโดยตลอด และในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ก็มีการปล่อยความเชื่อผิดๆ ออกมาทาง Facebook  ทั่วโลกว่ากระเทียม (รวมถึงหัวหอม) สามารถป้องกันโควิด-19 ได้  มีหลายคนที่เชื่อข้อมูลนี้ เช่น จากการสำรวจโดย NOIPolls ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสำรวจความเห็น Gallup พบว่าร้อยละ 15 ของชาวไนจีเรียเชื่อว่าวิธีหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงโคโรนาไวรัสได้คือการกินกระเทียมและขิง
    องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า กระเทียมเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่อาจมีคุณสมบัติต้านจุลชีพ อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานว่าการกินกระเทียมช่วยป้องกันผู้คนจากเชื้อโคโรนาไวรัส (8)

6. ข่าวปลอมอันตรายกว่าไวรัส
    ยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับวิธีการป้องกันและรักษาโควิด-19 อีกมากจนไม่สามารถนำมารายงานได้หมดสิ้น แต่อันตรายของข่าวปลอมยังมีมากกว่าการนำข้อมูลไปปฏิบัติแบบผิดๆ จากการศึกษาโดยนักวิจัยจาก Kings College London ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Medicine พบว่าคนที่ได้รับข่าวจากแหล่งสื่อสังคมออนไลน์มีแนวโน้มที่จะละเมิดกฏการควบคุมการระบาดมากกว่าคนอื่น และเว็บไซต์ข่าวโซเชียลมีเดียอาจจะต้องพยายามมากกว่านี้เพื่อควบคุมเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
    ทีมวิจัยได้ซักถามประชาชนเพื่อตรวจสอบว่าว่าพวกเขาเชื่อทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19หรือไม่ เช่น พวกเขาเชื่อว่าไวรัสถูกสร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการหรือไม่ หรือว่าสัญญาณ 5G  มีส่วนทำให้การระบาดแพร่กระจายหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเท็จทั้งสิ้น 
    จากการประมวลผลพบว่าผู้ที่เชื่อในทฤษฎีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะได้รับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียที่ไม่มีการควบคุม เช่น Facebook และ YouTube คนที่ไม่เชื่อเรื่องเท็จเหล่านี้มีอัตราการใช้โซเชียลมีเดียน้อยกกว่ามาก และการศึกษาพบว่า YouTube เชื่อมโยงกับทฤษฎีลวงโลกมากที่สุดตามมาด้วย Facebook (9)
    ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องข่าวปลอมอย่างเดียวไม่พอ จะต้องแก้ที่แพลตฟอร์มการกระจายข้อมูลด้วย ให้ช่องทางเหล่านี้เข้มงวดในการควบคุมข่าวสารที่ไม่ถูกต้องมากขึ้น เพราะลำพังผู้เสพข้อมูลมีศักยภาพที่จำกัดในการตรวจทานความถูกต้อง

อ้างอิง
1. "False claim: UNICEF recommends “sun exposure, gargling with salt water and stay away from ice cream” to prevent coronavirus. Reuters. March 29, 2020. Retrieved June 18, 2020. 
2. "Beware Of Fake Food, Health Advices Related To COVID19". The Times of India. May 13, 2020. Retrieved June 18, 2020. 
3. "Colloidal Silver". National Center for Complementary and Integrative Health. Retrieved June 18, 2020. From 
4. "Fake cures, risky rumours: virus misinformation hits home". Bangkok Post. March 26, 2020. Retrieved June 18, 2020. 
5. "Feds halt colloidal silver as virus treatment". Southwest Times Record. May 18, 2020. Retrieved June 18, 2020. 
6. "Nearly 20% of People Have Used Bleach on Food Due to COVID-19". Healthline. Retrieved June 18, 2020.  
7. "False claims that drinking water with lemon can prevent COVID-19 circulate online". AFP. March 12, 2020. Retrieved June 18, 2020. 
8. "Experts say eating garlic does not prevent COVID-19 -- and onions are no cure either". AFP. March 27, 2020. Retrieved June 18, 2020.  
9. "Coronavirus: Social media 'spreading virus conspiracy theories'". BBC. June 18, 2020. Retrieved June 18, 2020.