ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธ์ เปิดเผยว่า เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ได้ส่งประเด็นคำถาม(List of Issue) รายงานสถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ แห่งสหประชาชาติ (UN-CERD) ไปเมื่อช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยตั้งคำถามถึงความล่าช้าในการคืนสิทธิด้านสาธารณสุขให้กับนักเรียนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในสถานศึกษา หรือนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G กว่า 90,640 คน เนื่องจากผ่านไปกว่า 5 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2558  ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้อง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของเด็กกลุ่มนี้อย่างมาก

นายวิวัฒน์กล่าวว่า มติครม.ดังกล่าวให้กระทรวงมหาดไทย(มท.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้อง ซึ่งการคัดกรองข้อมูลต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับรองแล้วเสนอครม.ได้เลย แต่กระทรวงมหาดไทยไม่ยินยอม โดยตีความว่าจะต้องเป็นการรับรองทางทะเบียน โดยสำรวจและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขณะที่สำนักงบประมาณก็ตีความว่า การจะเสนอให้ครม.พิจารณาได้ จะต้องมีการรับรองให้แล้วเสร็จเป็นจำนวนอย่างน้อย 1 ใน 3 ถือว่าเป็นการตีความเกินกว่ามติครม.โดยที่ผ่านมา 5 ปีสำรวจคัดกรองได้เพียง 2,789 คนเท่านั้น

“เด็กเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือด้านการศึกษาจากรัฐบาลไทย แต่ไม่ได้รับสิทธิด้านการรักษาพยาบาล เคยถามเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยว่าต้องใช้เวลาสำรวจคัดกรองนานแค่ไหน เขาบอกเร็วสุด 7 ปี ช้าสุด 10 ปี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อเด็กเหล่านี้เรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วก็จะหมดสถานะ ซึ่งจะทำให้ไม่ได้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลอีกต่อไป จึงต้องทำรายงานเสนอต่อ UN-CERD เพื่อตั้งคำถามกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน” นายวิวัฒน์กล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธ์กล่าวว่า ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จะเสนอรายงานสถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติฯ ฉบับสมบูรณ์ ต่อ UN-CERD ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องชี้แจงภายในเดือนส.ค.นี้ แต่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อาจเลื่อนการชี้แจงไปเป็นปีหน้า

ทั้งนี้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 กำหนดให้บุคคลที่ได้รับสิทธิบริการสาธารณสุขตามที่กำหนดโดยพรบ.ฉบับนี้ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้ บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิไม่ได้รับสิทธินี้ ต่อมาในปี 2553 ครม.ห็นชอบการให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ จัดตั้งกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ

ล่าสุด 9 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของนักเรียนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย มีมติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้ข้อมูลนักเรียนปีการศึกษา 2561 จำนวน 78,897 ในการนำเสนอครม.เพื่อพิจารณา