ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงอุดมศึกษาฯ ร่วมพม. ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมดูแลผู้สูงอายุ นำร่องศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านบางแคเป็นแห่งแรก ดันเป็น “บางแคโมเดล” รองรับสังคมสูงวัยปี 64

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมแถลงข่าวผลงานความร่วมมือ การขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแลและให้บริการผู้สูงอายุ ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ(ศพส.) นำร่องใช้ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ “บ้านบางแค” เป็นแห่งแรก หรือ “บางแคโมเดล” ก่อนขยายผลให้ครบทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ รองรับปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือ การมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปี ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยและมีแผนงานบูรณาการ ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช. และกรมกิจการผู้สูงอายุ ดำเนินงานร่วมกันมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออนาคตสังคมสูงวัย การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งการยกระดับการดูแลผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรมบริการที่เหมาะสมและเอื้อต่อการดำรงชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่ง ผลงานเหล่านี้มาจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานแนวทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุมาเป็นเวลานาน ทรงสนับสนุนให้เกิดภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย (Thailand Biomedical Engineering Consortium) ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2558

ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 17 แห่งเพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือทางด้านการแพทย์เพื่อช่วยยกระดับเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย นอกจากนี้ทรงมีมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ที่ทรงพระราชทานงบประมาณให้นักวิจัยได้คิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อนำไปใช้งานได้จริง ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์งานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (i-CREATe) มาเป็นเวลากว่า 13 ปี มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกว่า 10 ประเทศ ในงานประชุม มีนิสิต นักศึกษาไทยได้รับการคัดเลือกให้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ ได้รับรางวัลเกือบทุกปี เป็นที่ชื่นชมของกรรมการและผู้เข้าชมงาน นิสิต นักศึกษาเหล่านั้นได้ต่อยอดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถจัดตั้งบริษัท Start up ได้ ทั้งนี้ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวก็ได้รับการคัดเลือกมาร่วมในการนำมาใช้งานที่บ้านบางแคแห่งนี้ด้วย นอกจากนี้ สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริการเพื่อผู้สูงอายุ และมีความร่วมมือกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสุขภาวะที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ในการดำเนินการพัฒนาศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค เป็นโครงการระยะนำร่องตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า สำหรับผลงานที่พัฒนาจาก สวทช. โดย ทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคทค) และ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สวทช. ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นการจัดการข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุ มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ระบบระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ เป็นการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มสมองเสื่อม ระบบส่งเสริมสุขภาพและการเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์การบันทึกการเคลื่อนไหวแบบไร้สาย เป็นการติดตามการเคลื่อนไหวและส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ อุปกรณ์ชุดตรวจวัดสุขภาพแบบพกพา (Portable Health Check Up)

อุปกรณ์เครื่องตรวจวัดสุขภาพอัตโนมัติสำหรับผู้สูงอายุ (Health Check Up Kiosk for Elderly Persons) และ อุปกรณ์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลงานจาก ศูนย์วิจัยเพื่อการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกับ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยจำนวน 2 รายการ ได้แก่ เครื่องฝึกเดินแบบเคลื่อนที่ได้ (Space walker) อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน และเครื่องออกกำลังกายและฟื้นฟู (Sit to Stand Trainer) นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายลุก - นั่ง ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายด้วยตัวเอง

“ปี 2563 ได้นำร่องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุแล้ว ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านบางแคเป็นแห่งแรก โดยหวังให้เป็น “บางแคโมเดล” ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร อาทิ การใช้เทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและระบบเครือข่ายสำหรับระบบระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ และ ระบบส่งเสริมสุขภาพและการเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์การบันทึกการเคลื่อนไหวแบบไร้สาย การติดตั้งและใช้งาน เครื่องฝึกเดินแบบเคลื่อนที่ได้ และเครื่องออกกำลังกายและฟื้นฟู เป็นต้น และมีเป้าหมายจะดำเนินการให้ครบทั้ง 12 แห่งภายใน ปี 2565”

อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุมาขยายผลการใช้ประโยชน์ เป็นต้นแบบในรูปแบบ “บางแคโมเดล” เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนขยายให้ครบ 12 ศพส. ในสังกัดของกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อใช้ดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ตลอดจนเพื่อต่อยอดและขยายผลนวัตกรรมสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง