ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยนักวิชาการทั่วโลกคาดตัวเลขป่วยโควิดจริงทะลุ 100 ล้าน ขณะที่ไทยควบคุมโรคดี แต่ต้องไม่ประมาท เพราะโควิดทำร้ายคนไทยด้วยศก.ฝือเคือง ส่วนเปิดปท.รับนทท.ต่างชาติมีมาตรการรองรับทุกมิติ เพื่อเศรษฐกิจเดินหน้า

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ทั่วโลกยังมีการระบาดของโควิด -19 อยู่ ปัจจุบันอัตราการพบผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 33 ล้านคนเกือบ 34 ล้านคน แต่นักวิชาการไม่มีใครคิดว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขจริง แต่เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละประเทศในการตรวจวินิจฉัยว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน หลายฝ่ายเชื่อว่าทั่วโลกอาจมีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 100 ล้านรายเรียบร้อยแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตก็ประมาณ 1 ล้านราย ซึ่งก็แน่นอนว่าอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นเดียวกัน

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยถือว่าดีกว่าทั้งโลกมาก เจอผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศตั้งแต่พ.ค. เป็นต้นมาเจอผู้ป่วยเพียง 1 รายที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ แต่ก็มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ แต่ก็ต้องย้ำว่าการเจอเชื้อรายใหม่แต่ต่างจากคำว่าเกิดการระบาดระลอกใหม่ ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมป้องกันโรค ว่าทำได้ดี และเข้มข้นแค่ไหน หากทำอย่างเข้มข้น ก็จะทำให้เมื่อเจอผู้ป่วยรายใหม่ก็จะควบคุมไม่ให้ระบาดได้ ซึ่งความเสี่ยงสำคัญตอนนี้คือการระบาดในเมียนมาที่มีพรมแดนติดไทย ซึ่งยังมีคนเข้าเมืองผิดกฎหมายยังพบประปราย ดังนั้นขอความร่วมมือทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ช่วยกันสอดส่องและหยุดการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดต้นทางคือจังหวัดที่มีชายแดนติดไทย และประเทศปลายทางที่เป็นจุดหมายการรับแรงงานต่างด้าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ 14 วันเพื่อเฝ้าระวังโรคโควิดนั้น ยืนยันว่าเราทำงานตามฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่มาหักล้าง ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน การกักตัว 14 วันเพียงพอ และมีการเข้มงวดการควบคุมโรคในสถานที่กักกันทุกรูปแบบ รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อในรพ.ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงการลดวันกักตัว 14 วันหรือ 7 วัน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าตอนนี้ยังกักตัว 14 วัน แต่ตอนนี้เริ่มมีนักวิจัยทำการทบทวนมาตรการที่ประเทศต่างๆ เริ่มดำเนินการ เอามาใช้ในการที่จะดูแลสถานการณ์ของแต่ละประเทศรวมทั้งทบทวนเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะสามารถนำมาใช้เสริมจากวิธีการดั้งเดิมที่ใช้อยู่ เลยมีการเริ่มจะส่งสัญญาณว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดระยะเวลากักตัวลง ดังนั้น เรื่องพวกนี้ทางทีมวิชาการดูอยู่อย่างใกล้ชิด เวลานำมาใช้ก็จะนำมาใช้เพื่อประโยชน์กับคนไทยมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยมากที่สุด ตัวอย่าง เช่นบางมณฑลของจีนไม่มีผู้ป่วยมา 200 กว่าวัน ถ้าเข้ามาในไทยก็ต้องบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อเข้ามาต่ำมากๆ

“ในการพิจารณาออกมาตรการต่างๆ นั้น เราไม่ได้พิจารณาแค่มิติเดียวแต่เราพิจารณาในความเสี่ยงภาพรวม และยังดูด้วยว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นเราจะสามารถไปจัดการกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้ดีแค่ไหน เรามีการพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่ความเสี่ยงต้นทาง วิธีกักตัว 7 วัน แล้วหลังจาก 7 วันแล้วจะสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือทำอะไรไม่ได้บ้าง ไม่ใช่ว่าจะตรวจแค่ 7 วันแล้วจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเลยแต่เราจะมีวิธีการผ่อนคลายระดับหนึ่งที่ไม่ทำให้คนไทยเสี่ยงจนเกินไป เราไม่ได้ดูแค่มติว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว เราไม่อยากจะทำให้เสียสมดุล กระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นโดยก้าวย่างไปด้วยความปลอดภัย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ขอย้ำอีกครั้ง เป้าหมายของประเทศไทยคือการตรวจพบผู้ป่วยให้ได้โดยเร็วและควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดให้ได้ไม่ให้ออกไปในวงกว้างหรือแพร่ระบาดในระดับวิกฤต เป้าหมายอีกอย่าง คือ การสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพวิถีชีวิตวิถีทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะวันนี้แม้ไม่มีโควิดในประเทศ ก็ไม่ได้หมายความว่าโควิด19 จะทำร้ายคนไทยไม่ได้ แต่โควิด-19 ทำร้ายคนไทยด้วยวิธีการอื่น ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ มีเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง คนที่ไม่มีกินจะมีสุขภาพดีได้อย่างไร และจะมีผลกระทบด้านอื่นๆ อีก ดังนั้นการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ วิถีชีวิต วิถีทางสังคม และเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขร่วมวางแผนไปข้างหน้าระยะยาวระหว่าง 1- 2 เดือนข้างหน้า ไปจนถึงปีหน้าไป จนถึงระยะที่มีวัคซีนเข้ามาเราจึงต้องอยู่กับโควิดไปอีกระยะ ดังนั้นในช่วงนี้จึงต้องทำเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการะบาดใหญ่ เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินไปได้อย่างสมดุลที่สุด