ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ศิริราชแถลงข่าวการรับมือมหันตภัย PM2.5 พร้อมเสนอปรับค่าเตือนภัยให้เหมาะสมกับกลุ่มคนเปราะบางคือ เด็ก คนท้อง คนชรา และคนมีโรคปอด/ หัวใจ/ สมอง/ ไตเรื้อรัง

 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมให้รายละเอียดและไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของพิษภัยฝุ่น PM2.5 ระบบการเตือนภัยคุณภาพอากาศของประเทศไทย และการปฏิบัติตัวของประชาชน ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 3 รพ.ศิริราช

​การรับมือมหันตภัย PM2.5 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้รายละเอียด ดังนี้

 

​PM2.5 เป็นมลพิษทางอากาศที่สำคัญจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นไอเสียจากยานพาหนะ การเผาไหม้ในครัวเรือนและที่โล่งแจ้ง ควันและก๊าซจากโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นจากการก่อสร้าง และสารที่เกิดจากกระบวนการทางเกษตรกรรม โดยปริมาณฝุ่นจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีถึงต้นปีที่มีอากาศเย็นและนิ่ง สำหรับองค์ประกอบของ PM2.5 ในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไปขึ้นกับแหล่งกำเนิด สารพิษที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ แบล็คคาร์บอน โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนัก

 

เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรง และการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาของเนื้อเยื่อตั้งแต่จมูกลงไปจนถึงปอด ส่งผลให้ในระยะสั้นให้เกิดการระคายเคืองจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ และไอ ตามมาด้วยการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้นรวมทั้งโรคโควิด-19 ผู้ที่มีโรคคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพองจะเกิดการกำเริบของโรค ส่วนในระยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดถดถอยจนเกิดโรคถุงลมโป่งพองโดยที่ไม่สูบบุหรี่ และมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น

​เนื่องจาก PM2.5 สามารถหลุดรอดผ่านกระแสเลือดจากปอดไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกายด้วย จึงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรังตามมา รวมถึงโรคสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เบาหวาน ผิวหนังเหี่ยวย่น ตาแห้ง จอรับภาพที่ตาเสื่อม และสมรรถภาพทางเพศถดถอย ฯลฯ

​ปัจจุบันประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่อง PM 2.5ในทุกภาคส่วนกันมากขึ้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการของทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อหามาตรการควบคุมแหล่งกำเนิด ลดการสูญเสียโดยมีการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศพร้อมมีการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว รวมถึงปรับค่าเตือนภัยให้เหมาะสมกับกลุ่มคนเปราะบางคือ เด็ก คนท้อง คนชรา และคนมีโรคปอด/ หัวใจ/ สมอง/ ไตเรื้อรัง รณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลางแจ้งพร้อมใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นอย่างถูกต้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดหาหน้ากากทุกชนิดให้ประชาชนมีใช้อย่างเพียงพอ ผลิตและจัดหาอุปกรณ์ป้องกันในที่พักอาศัย โดยเฉพาะเครื่องฟอกอากาศและแผ่นกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพและราคาย่อมเยา รวมถึงจัดหาสถานที่หลบภัยสาธารณะในช่วงอากาศวิกฤตสำหรับประชาชนที่ขาดความพร้อมและมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานทำความสะอาดถนน หรือ ผู้ขับขี่ยานพาหนะสาธารณะ ฯลฯ

ขอบคุณภาพจาก: เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล​