ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ย้ำเตือนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อโรคโควิด-19 

ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย จากกรณีแรงงานพม่าในตลาดค้ากุ้งที่จังวัดสมุทรสาคร ความเชื่อเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ก็กลับมาอีกครั้ง ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นคลิปที่มีการแชร์กันบน Facebook ว่าแอลกอฮอล์จะช่วยฆ่าเชื้อไวรัสในลำคอการดื่มจึงเป็นการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแอลกอฮอล์ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้นั้นต้องมี ethyl alcohol เป็นส่วนประกอบ 60-95% (National Institute on Alcohol Abuse and Alcoholism, 2020) ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทั่วไปมีความเข้มข้นไม่ถึงระดับดังกล่าว นอกจากนี้ผลการวิจัยล่าสุดจากต่างประเทศ พบว่า การดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงในผู้ป่วย COVID-19 โดยเฉพาะในคนอ้วน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนร่วมกับ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยMassey University ได้เสนอสมมติฐานว่า การดื่มสุรานั้นจะเพิ่มโอกาสการป่วยหนักในผู้ป่วย COVID-19 โดยตีพิมพ์สมมติฐานดังกล่าวในวารสารวิชาการ Addiction ซึ่งเป็นวารสารวิชาการชั้นแนวหน้าของโลก (Saengow, Assanangkornchai, & Casswell, 2020) ทั้งนี้เนื่องจาก แอลกอฮอล์ส่งผลให้เซลล์ถุงลมปอดทำงานผิดปกติ เม็ดเลือดขาวในปอดอ่อนแอลง เพิ่มอนุมูลอิสระในปอด และเพิ่มโอกาสของการเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวฉับพลัน ARDS (Acute Respiratory Distress Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เสียชีวิตจาก COVID-19

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยจาก Cleveland Clinic, Xi'an Jiaotong University และ Case Western Reserve University ได้เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นโดยใช้ข้อมูลจากผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศอังกฤษ จำนวน 12,937 ราย พบว่า ในกลุ่มคนอ้วนที่ดื่มสุราเป็นประจำเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจาก COVID-19 เป็น 1.6 เท่า และคนอ้วนที่ดื่มสุราอย่างหนักเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจาก COVID-19 เป็น 2.1 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่า การดื่มไม่ได้ลดโอกาสในการติดเชื้อ COVID-19 แต่อย่างใด (Fan, et al., 2020)

ในช่วงไล่เลี่ยกัน ทีมนักวิจัยจาก Yale School of Medicine ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม พฤติกรรมทางสุขภาพ และความรุนแรงของ COVID-19 พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงในผู้ป่วย COVID-19 ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ (Wendt, De Lillo, Pathak, De Angelis, & Polimanti, 2020)

จากผลการศึกษาล่าสุดทั้ง 2 ชิ้นดังกล่าวจึงเป็นการยืนยันว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงในการป่วยหนักและเสียชีวิตจาก COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การดื่มสุราเพื่อหวังว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของโรค COVID-19 นั้นไม่ได้ช่วยอะไรแล้วยังเพิ่มโอกาสในการเจ็บป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิตจาก COVID-19 อีกด้วย ดังนั้น นอกจากมาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เว้นระยะห่างแล้ว การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงการไม่สูบบุหรี่ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยทางด้านสุขภาพในช่วงการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในประเทศไทยอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอลกอฮอล์และโรค COVID-19 จากองค์การอนามัยโลก (ภาษาไทย) ได้ที่ https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/alcohol-and-covid-19-what-you-need-to-know-th.pdf?sfvrsn=ac9f487c_0

อ้างอิง

References

Fan, X., Liu, Z., Poulsen, K. L., Wu, X., Miyata, T., Dasarathy, S., Rotroff, D. M., & Nagy, L. E. (2020). Alcohol Consumption is Associated with Poor Prognosis in Obese Patients with COVID-19: a Mendelian Randomization Study using UK Biobank. medRxiv : the preprint server for health sciences, 2020.2011.2025.20238915.

National Institute on Alcohol Abuse and Alcoholism. (2020). Drinking alcohol does not prevent or treat coronavirus infection and may impair immune function. In.

Saengow, U., Assanangkornchai, S., & Casswell, S. (2020). Alcohol: a probable risk factor of COVID-19 severity. Addiction.

Wendt, F. R., De Lillo, A., Pathak, G. A., De Angelis, F., & Polimanti, R. (2020). Host genetic liability for severe COVID-19 overlaps with alcohol drinking behavior and diabetic outcomes in over 1 million participants. medRxiv : the preprint server for health sciences, 2020.2011.2008.20227884.