ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มนุษยชาติกำลังตกอยู่ในอาการ "ภาวะข้อมูลท่วมท้น" (Information overload) โดยไม่รู้ตัว มันคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการรับข้อมูลอย่างพอดีทำให้เราประมวลผลได้อย่างเท่าทัน ข้อมูลที่ล้นเกินไปทำให้เราไม่สามารถประเมินมันได้ทันการณ์ เหมือนกับการสวาปามอาหารอย่างรวดเร็วจนย่อยไม่ทัน สิ่งที่จะตามมาคือการสำลัก ติดคอ หรือกลืนอาหารชิ้นใหญ่ลงไปจนย่อยไม่ทัน ทำให้ร่างกายทำงานหนักจนเกิดโรคภัยตามมา

            ภาวะข้อมูลท่วมท้นเป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นมามานานอย่างน้อยก็ 40 ปีมาแล้ว อาการเช่นนี้จะทำให้เราให้รับข้อมูลมากเกินไปจนทำการตัดสินใจได้แย่ลง ปีเตอร์ กอร์ดอน เริทเซล (Peter Gordon Roetzel) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสตุทการ์ทได้นิยามความหมายล่าสุด (ปี 2562) ของอาการภาวะข้อมูลท่วมท้นเอาไว้ว่า เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจได้รับข้อมูลหลายชุด เช่น ข้อมูลที่มีความซับซ้อน ข้อมูลจำพวกจำนวน และข้อมูลที่มีความขัดแย้ง มันจะทำให้คุณภาพของการตัดสินใจจะลดลงเนื่องจากข้อจำกัดของแต่ละบุคคลในการประมวลผลข้อมูลทั้งหมดและทำการตัดสินใจอย่างเหมาะสมที่สุด (1)

            ฟังดูแล้วภาวะข้อมูลท่วมท้นเหมือนจะเป็นศัพท์แสงทางวิชาการที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ทั่วไป (หรืออย่างน้อยน่าจะเกิดกับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจอะไรบางอย่าง) แต่จริงๆ แล้วมันคือภาวะที่เกิดขึ้นกับคนทุกคน เอาเข้าจริงแล้วมันคือ "โรค" ชนิดใหม่ที่ทำให้มนุษยชาติมีศักยภาพการตัดสินใจด้อยลงจนตกเป็นเหยื่อของข้อมูลมั่วๆ ที่อำพรางตัวเองว่าเป็นข้อเท็จจริง - "ภาวะข้อมูลท่วมท้น" กำลังทำให้มนุษยชาติตกเป็นเหยื่อยุคสมัยของข่าวปลอม (Fake news) และโลกยุคหลังความจริง (Post-truth)

            มีคนสองคนที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ฟิลิปโป เมนเซอร์ (Filippo Menczer) ศาสตราจารย์พิเศษด้านสารสนเทศและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และเป็นผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์ด้านโซเชียลมีเดียที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาบลูมิงตัน เขาทำศึกษาการแพร่กระจายของการบิดเบือนข้อมูลและพัฒนาเครื่องมือในการต่อต้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์

            อีกคนก็คือ โทมัส ฮิลส์ (Thomas Hills) เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทด้านพฤติกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มหาวิทยาลัยวอร์วิกในอังกฤษ งานวิจัยของเขาเน้นที่วิวัฒนาการของจิตใจและข้อมูล ทั้งสองคนเขียนบทความลงในเว็บไซต์ของนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ Scientific American เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะข้อมูลท่วมท้นกับมนุษย์ยุคเรา

            บทความนี้มีชื่อว่า Information Overload Helps Fake News Spread, and Social Media Knows It (ภาวะข้อมูลท่วมท้นช่วยให้ข่าวปลอมแพร่กระจายและโซเชียลมีเดียก็รู้เรื่องนี้) เริ่มต้นบทความพวกเขายกตัวอย่างสมมติขึ้นมาตัวอยางหนึ่งเพื่อให้เราเข้าใจกลไกของอัลกอริทึมที่มีผลต่อการรับข้อมูลอันมากมายมหาศาลของเรา แต่แทนที่เราจะฉลาดขึ้นกลับ "โง่งม" ลงมากกว่าเดิม "แอนดี้" คือมนุษย์สมมติที่พวกเขายกตัวอย่างมาอธิบายกลไกนี้

            สมมติว่ามีคนๆ หนึ่งชื่อแอนดี้ เขากังวลว่าจะติดโรคโควิด-19 แต่เพราะไม่สามารถอ่านบทความทั้งหมดที่ผ่านตาได้ เขาจึงอาศัยคำแนะนำจากเพื่อนที่ไว้ใจได้ เมื่อมีคนหนึ่งให้ความเห็นบน Facebook ว่าผู้คนกำลังกลัวโรคระบาดมากเกินไป ตอนแรกแอนดี้ไม่เห็นด้วย

            แต่แล้วโรงแรมที่เขาทำงานอยู่ก็ปิดลงและงานของเขาตกอยู่ในความเสี่ยง แอนดี้เริ่มสงสัยว่าภัยคุกคามจากไวรัสตัวใหม่นั้นร้ายแรงเพียงใด แต่ไม่มีใครที่เขารู้จักตายเพราะไวรัสนี้ มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งโพสต์บทความเกี่ยวกับ ความหวาดกลัวโควิด-19 ที่บริษัทยายักษ์ใหญ่สร้างขึ้นโดยสมรู้ร่วมคิดกับนักการเมืองที่ทุจริต แอนดี้ก็เกิดความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล

            เมื่อเขาทำการค้นหาเว็บก็พบบทความที่อ้างว่าโรคโควิด-19 ไม่เลวร้ายไปกว่าไข้หวัดใหญ่ แอนดี้เข้าร่วมกลุ่มคนออนไลน์ที่เคยกลัวหรือกำลังกลัวว่าจะถูกปลดออกจากงานและในไม่ช้าเขาก็เหมือนกับหลายๆ คนที่ตั้งคำถามว่า "โรคระบาดมันมีที่ไหนกัน?"

            เมื่อเขารู้ว่าเพื่อนใหม่หลายคนกำลังวางแผนที่จะเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ยุติการล็อคดาวน์ เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับพวกเขา แทบไม่มีใครในการประท้วงครั้งใหญ่รวมถึงเขาด้วยที่สวมหน้ากาก เมื่อพี่สาวของเขาถามเกี่ยวกับการชุมนุมแอนดี้เล่าก็บอกว่าโควิดเป็นเรื่องหลอกลวง ความเชื่อนี้กลายเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในตัวตนของเขาไปแล้ว ... (2)

            นี่คือสถานการณ์จำลองที่ผู้เขียนบทความยกมา คีย์เวิร์ดสำคัญอยู่ที่ "เพราะไม่สามารถอ่านบทความทั้งหมดที่ผ่านตาได้" แอนดี้จึงต้องพึ่งพาคนใกล้ชิดที่ชี้นำเขาไปสู่ "ทางที่ผิด" แถมเมือใช้เว็บเสิร์ช อัลกอริทึมยังชักพาเข้าไปยังข้อมูลที่มันประมวลแล้วว่าแอนดี้น่าจะชอบ เมื่อแอนดี้หลงเชื่อบทความข่าวปลอมิช้นแรก อัลกอริทึ่มก็จะพาเข้าไปพบแลห่งที่สอง สาม สี่ ฯลฯ ไปเรื่อยๆ จนมันทำให้เขาเจอกับคนพวกเดียวกันและเชื่อมั่นฝังหัวในสิ่งที่เขาอ่านและพูดคุยกับคนพวกเดียวกันว่าเป็น "ข้อเท็จจริง" ทั้งที่มันคือ "ความเท็จของจริง"

            นักวิจัยทั้งสองคนชี้่ว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำความเข้าใจช่องโหว่ด้านความรู้ความเข้าใจข้อมูลและวิธีที่อัลกอริทึมใช้หรือบงการกับช่องโหว่เหล่านี้ ทีมนักวิจัยที่ที่มหาวิทยาลัยวอร์วิกในอังกฤษและที่หอสังเกตการร์โซเชียลมีเดียของมหาวิทยาลัยอินเดียนาบลูมิงตันแบบจำลองและพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการวิเคราะห์และการเรียนรู้เพื่อต่อสู้กับการบงการข้อมูลโดยสื่อสังคมออนไลน์ และตอนนี้เครื่องมือเหล่านี้บางส่วนถูกใช้โดยนักข่าว, องค์กรภาคประชาสังคม และบุคคลทั่วไปเพื่อตรวจจับข่าวปลอมและเสริมพลังให้กับการรับรู้ขาวสารที่เป็นข้อเท็จจริง

            แบบจำลองหนึ่งแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียทำให้ความสนใจสิ่งต่างๆ ของเรานั้นอยู่ในวงแคบลง (ไม่ใช่กว้างขวางขึ้นอย่างที่เราอาจจะเข้าใจ) และเรามักจะถูกจำกัดให้สนใจสิ่งที่น่าสนใสจที่สุดเพียงไม่กี่อย่าง ถึงขนาดที่ว่าแม้ว่าเราต้องการดูและแบ่งปันข้อมูลคุณภาพสูง แต่การที่เราไม่สามารถดูทุกอย่างในฟีดข่าวของเราได้ ทำให้เราถูกบีบให้แชร์สิ่งที่ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้นหรือไม่เป็นความจริงบางส่วน สิ่งนี้เป็นผลมาจากความสนใจที่จำกัด (limited attention) ของมนุษย์เรา เพราะข้อมูลข่าวสารคือสิ่งที่ดึงเอาความสนใจของเราไป เมื่อข้อมูลมีมากความสนใจก็จะจำกัดลง คุณภาพการรับข้อมูลข่าวสารชั้นสูงก็จะเสียไปด้วย 

            นอกจากนี้ ยังมีการทดลองแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าผู้คนจะพบข้อมูลที่สมดุลซึ่งมีมุมมองจากมุมมองที่แตกต่างกันแต่พวกเขาก็มักจะเอนเอียงไปทางหลักฐานสนับสนุนสิ่งที่พวกเขาเชื่ออยู่แล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่มีคนจำนวนมากเชื่อไม่เหมือนกัน คนๆ นั้นยิ่งจะยึดมั่นในจุดยืนของตัวเองมากขึ้น (2)

            นักวิจัยชี้ว่าเครื่องมือค้นหาและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่บงไปอีก เพราะอัลกอรึทึ่มของพวกมันจะให้คำแนะนำส่วนบุคคลโดยพิจารณาจากข้อมูลจำนวนมากที่ผู้ใช้เข้าไปข้องแวะด้วยในอดีต (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ผู้ใช้ชอบ) อัลกอริทึมจะจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลในฟีดของเราซึ่งเรามักจะเห็นด้วย ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะ "นอกกระแส" หรือเสี่ยงที่จะเป็นทฤษฎีสมคบคิดแค่ไหนก็ตาม

            อัลกอริทึมยังป้องกันเราจากข้อมูลใหม่ๆ ที่อาจเปลี่ยนใจเรา ทำให้เราทุกคนตกอยู่ในสภาพของสังคมที่แตกแยกรุนแรงทางความคิด (polarization) เพราะเชื่อมั่นในจุดยืนของตัวเอง อยู่ในกลุ่มที่เชื่อเหมือนๆ กัน และเสพข้อมูลที่ประเคนมาให้เหมือนเดิมโดยอัลกอริทึม (2)

            นอกจากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อคัดกรองข้อมูลที่น่าเชื่อถือแล้ว เรายังสามารถพัฒนาทักษะการอยู่ในโลกแห่งข้อมูลล้นเกินได้ด้วยตนเองด้วย Daniel Levitin นักนักจิตวิทยาความรู้ความเข้าใจและนักประสาทวิทยาชาวอมเริกัน-แคเนเดียน แนะนำไว้ในหนังสือ The Organized Mind: Thinking Straight in the Age of Information Overload (จิตใจที่เป็นระเบียบ: การคิดให้ตรงในยุคข้อมูลล้นเกิน) เขาเสนอวิธีการง่ายๆ เช่น จำกัดอีเมลที่รบกวนความสนใจของเรา, ใช้เวลาในการตัดสินใจงานและกิจกรรมให้มากที่สุดกับสิ่งที่คิดว่าคุ้มค่าที่สุด, อย่าทำงานหลายภารกิจในเวลาเดียวกัน, สลัดตัวเองจากโวเชียลเน็ตเวิร์ก และใช้เวลาฝันเฟื่องจินตนาการกันบ้าง

            นี่คือวิธีการง่ายๆ ที่สุดแต่ทรงพลังที่สุด นั่นคือการสร้างภูมิคุ้มกันข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามาในชีวิตด้วยการเสริมทักษะของตนเอง - ใช้ความไม่ซับซ้อนของการจัดการ เพื่อรับมือกับความซับซ้อนของข้อมูลข่าวสารนั่นเอง

 

 

อ้างอิง

1. Roetzel, Peter Gordon (2019). "Information overload in the information age: a review of the literature from business administration, business psychology, and related disciplines with a bibliometric approach and framework development". Business Research. 12 (2): 479–522. doi:10.1007/s40685-018-0069-z

2. Menczer, Filippo.  Hills, Thomas. (December 1, 2020). "Information Overload Helps Fake News Spread, and Social Media Knows It". Scientific American.

3. Shin, Laura (14 November 2014). "10 Steps to Conquering Information Overload". Forbes.

ภาพจาก Jorge Franganillo - Flickr: Information overload / wikipedia