ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มต้นระบาดขึ้นในประเทศไทย มีผู้คนในแวดวงวิชาการจำนวนมากให้ความกังวลว่าเชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปในอากาศได้ แม้กระทั่งในต่างประเทศก็ยังมีงานวิจัยความเสี่ยงในการระบาดบนเครื่องบินซึ่งถือว่าอยู่ในสภาพอากาศที่ปิด

ขณะนั้นจึงมีคำศัพท์ 2 คำที่พบได้บ่อย  คือ Airborne  (แพร่กระจายผ่านอากาศ) กับ Droplet (แพร่ผ่านละอองฝอย)

มีผู้ส่งข้อความมายัง cofact.org ตรวจสอบ หลังมีการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) เป็นความจริงหรือไม่

จากกรณีสื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า มีนักวิทยาศาสตร์ 239 คน จาก 32 ประเทศ เปิดเผยหลักฐานการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19 ) ผ่านละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน สามารถแพร่ผ่านทางอากาศ (AirBorne) จึงเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับว่าโควิด-19 มีการติดต่อในรูปแบบแอร์บอร์น และปรับคำแนะนำนั้น

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2563 เว็บไซต์ hfocus.org เผยแพร่ข้อมูลจาก นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ข้อมูลจนถึงขณะนี้โรคโควิด -19 ส่วนใหญ่ยังเป็นการแพร่ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน (Droplet) จากการไอ จาม และในระยะ 1 เมตร ส่วนการแพร่กระจายทางอากาศหรือ แอร์บอร์นนั้น เกิดขึ้นในโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม การติดต่อส่วนใหญ่ของโควิด-19 มีข้อแม้บ้าง อย่างที่เคยพบ คือ ในร้านอาหาร หรือบนรถโดยสาร ที่สามารถแพร่จากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งในได้ในระยะที่ค่อนข้างไกลประมาณ 4-5 เมตร ทำให้คนมองว่าถ้าแพร่ได้ไกลขนาดนี้ไม่ได้น่าจะเป็นละอองฝอยขนาดใหญ่ แต่น่าจะเป็นการแพร่ผ่านละอองฝอยขนาดเล็ก กระจายผ่านทางอากาศ ดังนั้น ภายใต้ข้อยกเว้นบางข้อโรคโควิด-19 ก็สามารถแพร่ได้ไกลกว่า 2 เมตร แต่โอกาสไม่ได้สูงมาก

“ผมมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ประเทศหลายๆ ประเทศแล้วไม่สามารถทำให้คนของประเทศตัวเองหันมาสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าได้ ดังนั้น ถ้าบอกว่าเป็นการแพร่ผ่านทางอากาศจะช่วยให้ง่ายในการสนับสนุนให้คนของประเทศนั้นๆ หันมาสวมหน้ากากกันมากขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่แต่ละประเทศจะจริงจังกับการแก้ไข ควบคุม ป้องกันโรคคแค่ไหนมากกว่า และถึงแม้ในบางประเทศต่อให้มีการประกาศว่าโรคนี้แพร่กระจายทางอากาศ แต่ถ้าผู้นำประเทศยังบอกว่าไม่ต้องสวมหน้ากาก ประชาชนก็คงไม่สวมหน้ากากอยู่อย่างนั้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่าหากการแพร่กระจายโรคเปลี่ยนจากดร็อปเล็ท เป็นแอร์บอร์น ประเทศไทยต้องปรับมาตรการอะไรหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ไม่เปลี่ยน เพราะว่าสุดท้ายการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยแบบที่เราทำกันอยู่นั้น เป็นมาตรการในการป้องกันโรคที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ถ้าเราทุกคนช่วยกันสวมหน้ากากกันมากพอก็ป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีแล้ว แค่อย่าประมาทมากเกินไปเท่านั้นเอง

ในขณะที่กรมควบคุมโรค ก็ได้ออกมาบอกว่า จากที่มีการแชร์ข้อความว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านทางอากาศได้นั้น ทางกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงว่าการติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลักๆ ยังคงแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (droplets) ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เข้าทางเยื่อเมือก แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถป้องกันได้ ขอให้ทุกคนดูแลร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่จากกรมควบคุมโรค สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/index.php หรือโทร. 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกข่าวหนี่งที่ถูกแชร์ซ้ำอีกครั้งในช่วงเดือน ม.ค.2564

จากกรณีดังกล่าวสรุปได้ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 หลัก ๆ แพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (Droplets) ผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง ส่วนกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนเรื่องโควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 63 นั้น เป็นการแจ้งไปยังบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากขั้นตอนการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางขั้นตอนสามารถเปลี่ยน Droplet ให้กลายเป็น Airborne ได้

ดังนั้น ประชาชนทั่วไปควรสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันโควิด-19 ที่แพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (Droplets)

 

หมายเหตุ : ภาพจากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1410