ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายครั้งความเชื่อกับความป่วยมักสวนทางกัน

หนึ่งในนั้นคือการสร้างความเชื่อที่ว่าการกินเจ กินมังสวิรัติ และรับประทานผลไม้ที่มีฤทธิเป็นด่างจะไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

มีผู้ส่งข้อความมายัง cofact.org เพื่อให้ตรวจสอบว่าข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมากว่ากินเจไม่ติดโควิดจริงหรือไม่

ประเด็นนี้ต้องย้อนไปในสื่อที่เคยนำเสนอบทความเผยแพร่ว่านักวิชาการยืนยันการกินเจ กินมังสวิรัติ ไม่ติดโควิด ไม่เป็นความจริง 

ช่วงปลายเดือนมี.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีการชี้แจงข้อเท็จจริงจากนักวิชาการหลายๆ ท่านว่า การกินเจ กินมังสวิรัติ ไม่ติดโควิด-19 ไม่เป็นความจริง

อาทิ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบายผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ระบุว่า

“คนกินเจ ก็ติดโรคโควิด-19 ได้นะครับ เหมือนช่วงนี้ ทุกคนพยายามจะเอาความเชื่อตัวเอง มาเชื่อมโยงกับการป้องกันรักษาโรคจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่กันใหญ่เลย มีอาหารเสริมหลายชนิดที่แอบอ้างขายช่วงนี้ รวมไปถึงวิตามิน และสมุนไพรด้วย

“ล่าสุดนี้ ก็มาเจอที่บอกว่า คนกินเจจะไม่ติดโรคโควิด-19 เพราะคนที่กินเจ เลือดจะเป็นด่าง ไม่ติดเชื้อไวรัส หรือถ้าติดก็อาการไม่รุนแรง ... ส่วนคนกินเนื้อสัตว์นั้น เลือดจะเป็นกรด ติดไวรัสง่าย ตายง่าย (เหมือนฝรั่งที่กินแต่เนื้อนมไข่ เลยตายเร็ว)

“ไม่จริงนะครับ !! ไม่มีงานวิจัยไหนที่ออกมาบอกว่า มีความแตกต่างกันในการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์นี้ ระหว่างกลุ่มคนที่เป็นคนกินมังสวิรัติกับคนที่กินเนื้อสัตว์

“ลองนึกภาพประเทศอินเดียก็ได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่นั้นกินมังสวิรัติ (รู้กันหรือเปล่า) ก็พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในปัจจุบันนี้

“แถมด้วยว่า ค่าพีเอชของเลือดของคนที่กินมังสวิรัติกับคนที่กินเนื้อนั้น ก็มีค่าเป็นด่างอ่อนๆ ประมาณ 7.35-7.45 พอๆ กันทุกคน ซึ่งจะคงที่เกือบตลอดเวลา ด้วยการปรับสมดุลจากระดับการหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากร่างกาย ไม่ใช่ว่ากินเนื้อสัตว์แล้วจะมีเลือดเป็นกรด อย่างที่ว่า”

ไม่เพียงเท่านั้น สื่อต่างประเทศอย่าง สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ก็ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2563 ระบุว่า จากกรณีกระแสข่าวการกินเจ มังสวิรัติ จะป้องกันโควิด-19 และอ้างว่าเป็นรายงานจากองค์การอนามัยโลกนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะผู้เชี่ยวชาญไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัตินั้นจะปลอดภัยจากโรคโควิด-19  อีกทั้งองค์การอนามัยโลก ก็ไม่เคยเผยแพร่รายงานดังกล่าว

สุปริยา เพซพรุวา (Supriya Bezbaruah) ตัวแทนองค์การฯ ชาวอินเดียกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) ว่า

“องค์การฯ ไม่เคยเผยแพร่แถลงการณ์เช่นนั้น นอกจากนี้คำแนะนำขององค์การฯ ในเรื่องโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และระบุว่า การกินอาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการและดื่มน้ำให้เพียงพอนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

“ผู้ที่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน มีแนวโน้มมีสุขภาพดีกว่า โดยจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและโรคติดเชื้อน้อยลง”

นอกจากนี้ยังแนะนำด้วยว่าประชาชนควรกินอาหารสดใหม่และไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นประจำทุกวัน อาทิ เนื้อ ปลา ไข่ นม และอาหารอื่นๆ ที่ได้จากสัตว์

อาร์. วี. อโศก (R.V. Asokan) เลขาธิการสมาคมการแพทย์อินเดีย กล่าวกับสำนักข่าวฯ ว่าคำกล่าวอ้างข้างต้น ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์บ่งชี้ว่า อาหารที่ไม่ใช่มังสวิรัตินั้นเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการชี้แจงจากผู้รู้และนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศหลายครั้ง แต่แล้วเรื่องการกินเจ กินมังสวิรัติ ไม่ติดโควิด-19 ก็กลับมาเป็นประเด็นที่สร้างความสับสนอยู่เนืองๆ

28 ธ.ค.2563 เพจ Drama-addict ได้โพสต์ถึงประเด็นนี้ว่า

“มันมีคลิปที่คนแชร์กันในไลน์เยอะมากตอนนี้ บอกประมาณว่า ให้กินเจ หรือกินมังฯ แล้วจะทำให้เลือดเป็นด่าง ช่วยป้องกันไม่ให้ติด covid-19 ได้ ขอบอกว่าไม่เป็นความจริงนะจ๊ะ คนกินเจหรือกินมังฯ ก็ติด covid-19 ได้

“แล้วไอ้การกินผักกินเจ ก็โอเคนะ กินกันตามสะดวก แต่อย่าหวังว่าจะป้องกันโควิดได้ ขอให้เสริมโปรตีนให้โภชนาการครบถ้วนก็โอเค แต่การกินผัก กินเจ ไม่ทำให้เลือดเป็นด่าง ถ้าเลือดเป็นด่างนี่คือใกล้ตายแล้วล่ะ เพราะระบบรักษาสมดุลกรดด่างในเลือดน่าจะพังพินาศไปแล้ว”

เพราะฉะนั้น การกินเจ กินมังสวิรัติ แล้วทำให้เลือดเป็นด่างจะไม่ติดโควิด-19 ซึ่งมีการกลับมาแชร์บ่อยครั้งจึงไม่เป็นความจริง