ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เปิดรายละเอียดการสอบสวนโรคหลังพบผู้ป่วยติดโควิด19 สอบถาม ซักประวัติไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่สอบทานหลายครั้ง ย้ำทำทั้งหมดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงหลักการสอบสวนโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า โดยหลักการคือพื้นที่รับผิดชอบ คือกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะดูแล โดยมีสำนักงานอนามัย และกองควบคุมโรคติดต่อ เป็นผู้สอบสวนโรค ส่วน สปคม.เป็นหน่วยงานเสริม กรณีที่ 1. มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัชเตอร์) ใหญ่ มีความซับซ้อน และ 2. กรณีเคสข้ามเขต เช่น ติดเชื้อจากจังหวัดอื่น แต่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ กทม. สปคม. จะมาเชื่อมให้

ผู้สื่อข่าวถามว่าปาร์ตี้วันเกิดดีเจชื่อดัง ทาง สปคม.เข้าไปร่วมสอบสวนโรคด้วยหรือไม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า เรื่องหน้าที่ของการสอบสวนโรค จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่ เรื่องนี้ก็จะเป็นของกทม. แต่ สปคม. จะมีหน้าที่สนับสนุนข้อมูล แต่ด้วยกระบวนงานเกี่ยวกับการติดโควิด เมื่อ รพ.พบเคสจะต้องแจ้งภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งปกติจะส่งใบแล็บ และจะมีใบสอบสวนโรคโควิดเบื้องต้น หรือใบโนเวล2 (Novelcorona 2) ด้วย ซึ่งหากข้อมูลไม่ครบทาง สปคม.จะสอบถามผู้ส่งเพิ่ม จากนั้นก็ส่งไปยังระบบสำนักอนามัย กทม. และกรมควบคุมโรค โดย กทม.ก็จะดึงใบโนเวลมาดู ว่า เป็นเขตไหน อย่างไร

จากนั้นจะส่งให้ศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่นั้นๆ ลงไปสอบสวนโรคในพื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้ง แล้วแจ้งข้อมูลกลับมาที่สำนักอนามัย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเยอะ ศูนย์ฯ ทำไม่ไหว ก็จะประสานมายังสำนักอนามัย และสปคม. เพื่อช่วยในการสอบสวนโรค เมื่อสอบสวนแล้วนั้น ทางกทม. ก็จะมีอีกทีมในการนำใบข้อมูลโนเวลมาเขียนไทม์ไลน์ ทั้งหมดทั้งปวงก็จะมาจากการสอบถามผู้ติดเชื้อแล้ว ซึ่งแน่นอนไม่ได้สอบถามแค่ครั้งเดียว ซึ่งทั้งหมดการสอบสวนโรคก็เพื่อให้มีการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง

เมื่อถามต่อว่าในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ประชาชนควรอิงกับไทม์ไลน์ หรือจริงๆ แล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไร นพ.วิชาญ กล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์เป็นพื้นที่ๆ ซึ่งไทม์ไลน์จะเป็นประโยชน์กับทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่สอบสวนโรค ในการวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง เช่นการสังสรรค์ เกิดการตื่นตัวในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดเราต้องระลึกเสมอว่าทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรมมีความเสี่ยงหมด ดังนั้นพฤติกรรมการป้องกันตัวเองสำคัญที่สุด คือการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ