ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เร่งสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด 19 เตรียมพร้อมระยะที่ 1 ช่วง ก.พ.-เม.ย. พร้อมเผยกรณีวัคซีนโควิดแอสตราฯอาจเลื่อนเวลาเข้าไทย เหตุติดปัญหาขนส่ง

วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ครั้งที่ 2/2564 ว่า ตามเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด 19 ในระยะที่ 1 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่วัคซีนมีจำกัด โดยดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคคลที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยนั้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนจากแอสตราเซเนก้าจำนวน 50,000 โดส ที่จะเข้ามาในเดือน ก.พ.นั้น จะจ่ายให้กับกลุ่มแรก คือบุคลากรการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้า และบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทำงานด่านหน้า โดยจะให้ในจ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี  และในรพ.ที่มีผู้ป่วย เช่น แม่สอด จ.ตาก โดย HITAP เตรียมสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด19  โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำรวจความสมัครใจและส่งกลับมาทางกระทรวงฯ ประมาณวันที่ 4 ก.พ.64  

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อกังวลว่า วัคซีนจากแอสตราฯ จะเข้าไทยล่าช้า เนื่องจากติดทางอียูเกี่ยวกับการจำกัดการขนส่ง  ไทยจะดำเนินการอย่างไร และจะกระทบต่อระบบการฉีดวัคซีนหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องนี้ โดยหากวัคซีนโควิด 5 หมื่นโดสของแอสตราฯ เข้ามาในช่วงสัปดาห์ที่ 1   ขั้นแรกต้องผ่านการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  ห้องปฏิบัติการทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  คาดว่าจะได้ฉีดประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.พ. แต่ถ้ามาช้าก็จะเลื่อนออกไป และจากข้อมูลทางการแพทย์ อย่างวัคซีนของแอสตราเซเนกา สามารถฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 12 สัปดาห์  แต่ถ้ากรณีวัคซีนของแอสตราฯ ติดปัญหาขนส่ง เข้ามาล่าช้ากว่ากำหนด  เราก็ยังมีวัคซีนของแอสตราฯ ล็อตที่ผลิตเองในไทยรองรับ ซึ่งจะได้ช่วงเดือน มิ.ย. ก็สามารถฉีดได้เลย ซึ่งเป็นไปตามแผนเดิมอยู่แล้ว

"สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีแผนเตรียมความพร้อม เมื่อวัคซีนโควิดมาก็จะได้เดินหน้าทันที ถ้ายังไม่เข้ามาก็เตรียมไว้ ดีกว่าไม่ดำเนินการใดๆ  และถ้าวัคซีนของซิโนแวตเข้ามาก็สามารถนำมาบริหารจัดการผ่านแผนที่เตรียมพร้อมเช่นกัน" นพ.โสภณ กล่าว และว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมยังพิจารณาแผนวัคซีนในส่วนคนไทยต้องได้รับวัคซีนฟรี